ที่มาของคำว่า “ตรัง”
คำว่า “ตรัง” มีความหมายสันนิษฐานได้ 2 ทาง คือ
1. มาจากคำภาษามลายูว่า Terang แปลว่า สว่าง หรือแจ่มแจ้ง จึงตีความว่า เมืองตรังเป็นเมืองแห่งรุ่งอรุณ
2. มาจากคำภาษาสันสกฤตว่า ตรงฺค หรือ ตรังคะ แยกศัพท์เป็น ตร + องฺค แปลตรงตามคำ ตร จาก ตร ธาตุ ว่า ข้าม เดิน หรือเคลื่อนที่ไป องฺค แปลว่า อวัยวะ แปลรวมว่า อวัยวะที่เคลื่อนที่ไปได้ในทะเล กล่าวคือ คลื่นหรือระลอก จึงตีความว่า เมืองตรังเป็นเมืองแห่งคลื่น ซึ่งหมายถึงคลื่นลมในทะเลหน้าเมืองตรัง

ที่ตั้งและอาณาเขต
จังหวัดตรัง ตั้งอยู่ภาคใต้ของประเทศไทย ห่างจากกรุงเทพฯ 828 กม. มีพื้นที่ประมาณ 4,917.519 ตร.กม. หรือประมาณ 3,088,399.375 ไร่
ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่
ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล และทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอควนขนุน อำเภอกงหรา และอำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอคลองท่อม เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ และทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย

ลักษณะภูมิประเทศ

สภาพพื้นที่เป็นเนินสูงๆ ต่ำๆ สลับด้วยเขาเล็กๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป พื้นที่ค่อนข้างราบเรียบมีจำนวนน้อยซึ่งใช้เพาะปลูกข้าว ทางทิศตะวันออกมีเทือกเขาบรรทัดยาวจากเหนือจดตอนใต้ และเป็นเส้นแบ่งเขตแดนจังหวัดตรังกับจังหวัดพัทลุง มีเนื้อที่ป่าเกือบร้อยละ 20 ของเนื้อที่จังหวัดส่วนใหญ่เป็นพื้นที่แถบเทือกเขาบรรทัด ลักษณะดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย สภาพป่าเป็นป่าดิบชื้น มีป่าชายเลนสำหรับท้องที่ที่อยู่ติดชายทะเล และมีลำน้ำสำคัญๆ 3 สาย อันได้แก่ แม่น้ำตรัง ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเขาวังหีบ เทือกเขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช แม่น้ำปะเหลียน เกิดจากเทือกเขาบรรทัด เขตอำเภอปะเหลียน คลองกะลาแสและต้นน้ำ ที่เกิดจากควนปลวกร้อน ควนชะไน และควนน้ำแดง ชายแดนตรัง กระบี่ นอกจากนี้ยังมีลำห้วยบริวารที่คอยส่งน้ำให้อีกกว่า 100 สาย ทั้งยังมีชายฝั่งด้านตะวันตก ติดทะเลอันดามันที่ยาวถึง 119 กม. กับเกาะต่างๆ กระจัดกระจาย อยู่กว่า 46 เกาะ และป่าชายเลนที่ยังคงอยู่ในสภาพที่อุดมสมบูรณ์

สภาพภูมิอากาศ

จังหวัดตรังได้รับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือช่วงเดือนตุลาคม-มกราคม และลมมรสุม ตะวันตกเฉียงใต้ช่วง เดือนพฤษภาคม-กันยายนทำให้มีฝนตกตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 27.4 องศาเซลเซียส ส่วนช่วงเวลาที่อากาศเย็นสบาย จะอยู่ประมาณปลาย เดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนธันวาคม

ทรัพยากรธรรมชาติ

ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของจังหวัดตรัง แร่ธาตุที่สำคัญ ได้แก่ ดีบุก ฟลูออไรท์ และถ่านหินลิกไนท์ สำหรับทรัพยากรป่าไม้ที่สำคัญๆ เช่น เคี่ยม ยาง ตะเคียน หลุดพอ สามพอน ดำดง ตำเสา และตาเสือ เป็นต้น ทางด้านป่าชายเลนมีไม้โกงกาง ตะบูน ตาตุ่ม ปะสัก หลุดพอทะเล ฯลฯ นอกจากนี้ทางด้านชายฝั่งทะเลยังอุดมไปด้วยสัตว์ทะเลนานาชนิด และยังมีแหล่งรังนกนางแอ่นในท้องที่อำเภอสิเกา ซึ่งได้มีเอกชนขอสัมปทานเก็บในแต่ละปี

ชาวตรังส่วนใหญ่มีอาชีพในการเกษตร การเกษตรที่สำคัญของชาวจังหวัดตรังคือการทำสวนยางพารา ส่วนอาชีพในการเพาะปลูกอื่นๆ รองลงไปคือการทำนา ทำสวนมะพร้าว สวนผลไม้ เช่น เงาะ ทุเรียน กาแฟ และในบางท้องที่ทำสวนพริกไทย สำหรับประชาชนที่อยู่แถบชายฝั่งทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดียมีอาชีพการประมง