จังหวัดชุมพรมีชื่อปรากฏตั้งแต่ปีพุทธศักราช 1098 ในตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชฉบับของหอสมุดแห่งชาติ โดยมีความว่า เมืองชุมพรนั้นมีฐานะเป็นเมือง
สิบสองนักษัตรของนครศรีธรรมราช ใช้รูปแพะเป็นตราเมือง เป็นเมืองหน้าด่านฝ่ายเหนือเพราะอยู่ทางตอนบนของภาคใต้ การเดินทางโดยทางบกจำเป็นต้องผ่านเมืองชุมพร ในปีพุทธศักราช 1997 แผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถปรากฏในกฎหมายตราสามดวงว่า เมืองชุมพรเป็นเมืองตรีอาณาจักรฝ่ายใต้ของกรุงศรีอยุธยาจนถึงพุทธศักราช 2459 จึงมีฐานะเป็นจังหวัดในมณฑลสุราษฏร์ธานี
คำว่า“ชุมพร” ตามอักษรแยกได้เป็น 2 คำ คือ คำว่า “ชุม” ซึ่งมีความหมายว่า รวม,ชุก,มาก,รวมกันอยู่ และคำว่า “พร” ซึ่งมีความหมายว่า ของดี,ของที่เลือกเอา ของประเสริฐ ดังนั้นคำว่าชุมพร ถ้าแปลตามตัวอักษร ก็จะได้ความหมายว่า เป็นที่รวบรวมของประเสริฐ แต่ชื่อเมืองชุมพรนั้นไม่ได้มีความหมายตามตัวอักษร
ประการแรก เชื่อกันว่าชุมพรนั้นมาจากคำว่า “ประชุมพล” หรือ “ชุมนุมพล” ซึ่งแปลได้ว่า “รวมกำลัง”เนื่องจากในสมัยก่อนชุมพรเป็นเมืองหน้าด่านทางภาคใต้
และกองทัพมักจะมาตั้งค่ายอยู่ที่เมืองเมืองชุมพร ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการรบกับพม่าหรือปราบกบฏภายในราชอาณาจักรก็ตาม เมื่อยกทัพหลวงมาครั้งใด เมืองชุมพรก็จะต้องเป็นที่ชุมนุมพลหรือ
ชุมนุมกองทัพเสมอ คำว่าชุมพรจึงเป็นไปได้ว่าเกิดจากการเรียกเพี้ยนมาจากคำว่าประชุมพล เพราะคนไทยทางใต้ชอบพูดคำสั้นๆ จึงตัดคำว่าประออกเสีย เหลือแค่ “ชุมพล” และคำว่าพลก็เพี้ยนกลายมา
เป็นคำว่า “พร” แทน ซึ่งตามธรรมดา ชื่อเมืองหรือตำบลมักจะถูกเรียกเพี้ยนไปจากเดิมเสมอ อย่างไรก็ดีเมืองชุมพรนับว่าเป็นเมืองที่สำคัญทางยุทธศาสตร์มาตั้งแต่สมัย โบราณ ดังนั้นจากคำว่าประชุมพล
จึงมีความหมายตรงกับประวัติศาสตร์ของเมืองที่ว่า เป็นเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์
ประการที่สอง ในการเดินทางไปรบทัพจับศึกของแม่ทัพนายกองตั้งแต่สมัยโบราณ เมื่อจะเคลื่อนพลจะต้องทำพิธีส่งทัพโดยการบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขอให้ได้ รับชัยชนะในการสู้รบ
เพื่อเป็นการบำรุงขวัญทหาร ในสถานที่ชุมนุมเพื่อรับพรเช่นนี้จึงตรงกับความหมายชุมนุมพร หรือประชุมพร ซึ่งทั้งสองคำนี้อาจเป็นต้นเหตุของคำว่า “ชุมพร” เช่นเดียวกัน
ประการที่สาม เนื่องจากที่ตั้งเมืองเดิมนั้นอยู่ทางฝั่งขวาของคลองชุมพร ซึ่งมีต้นไม้ชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า“มะเดื่อชุมพร”ขึ้นอยู่ทั่วไป เดิมคลองนี้ยังไม่มีชื่อภายหลังจึงถูกตั้งชื่อว่าคลองชุมพรตาม
ชื่อต้นไม้เพราะปกติการตั้งชื่อท้องที่หรือแม่น้ำลำคลองมักจะตั้งตามชื่อต้นไม้หรือ สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ปรากฏอยู่ ณ ที่แห่งนั้น ต่อมาเมืองที่มาตั้งจึงมีชื่อตามต้นไม้ไปด้วย เช่นเดียวกับชื่อชุมพร อาจเรียกตามชื่อ
คลองหรือชื่อต้นไม้ก็เป็นได้
ขนาดพื้นที่ และที่ตั้ง
จังหวัดชุมพรตั้งอยู่ทางตอนบนสุดของภาคใต้ บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก ห่างจากกรุงเทพมหานครตามทางหลวงหมายเลข4 (เพชรเกษม) เป็นระยะทางประมาณ 498 กิโลเมตร และเส้นทางรถไฟสายใต้ ประมาณ 476 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 3.75 ล้านไร่ หรือ 6,010.849 ตารางกิโลเมตร มีขนาดพื้นที่ใหญ่มากเป็นอันดับ 4 ของภาคใต้ชุมพรเป็นจังหวัดแรกของภาคใต้ตอนบนฝั่งอ่าวไทย มีรูปพื้นที่เรียวยาวตามแนวเหนือ-ใต้ มีความยาวประมาณ 222 กิโลเมตร
โดยจังหวัดชุมพรมีอาณาเขตติดกับจังหวัดใกล้เคียง ดังนี้
ทิศเหนือ เขตอำเภอท่าแซะ และอำเภอปะทิว ติดต่อกับอำเภอบางสะพานน้อยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ทิศใต้ เขตอำเภอละแม และอำเภอพะโต๊ะ ติดต่อกับอำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ทิศตะวันออก เขตอำเภอปะทิว อำเภอเมือง อำเภอสวี อำเภอทุ่งตะโก อำเภอหลังสวน และอำเภอละแม ติดต่อกับอ่าวไทย
ทิศตะวันตก เขตอำเภอท่าแซะติดต่อกับอำเภอกระบุรี จังหวัดระนองและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เขตอำเภอเมือง อำเภอสวี อำเภอหลังสวน และอำเภอพะโต๊ะ ติดต่อกับอำเภอกระบุรี อำเภอละอุ่นอำเภอเมือง จังหวัดระนอง
สภาพภูมิประเทศ
แบ่งออกเป็นพื้นที่ราบตอนกลาง พื้นที่ราบชายฝั่งทะเล และพื้นที่ทางทิศตะวันตก เป็นที่สูงและภูเขา ทิวเขาที่สำคัญ คือ ทิวเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นพรมแดนทางธรรมชาติระหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนมาร์ ถัดจากแนวที่สูงมาทางด้านตะวันออกเป็นที่ราบตอนกลางซึ่งมีลักษณะเป็นที่ราบลูกคลื่น และที่ราบลุ่มเป็นเขตเกษตรกรรมที่สำคัญของจังหวัด สำหรับพื้นที่ทางตะวันออกเป็นที่ราบชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 222 กิโลเมตร ลักษณะชายหาดของจังหวัดชุมพรค่อนข้างเรียบมีความโค้งเว้าน้อยความกว้างของจังหวัด โดยเฉลี่ยประมาณ 36 กิโลเมตร
สภาพภูมิอากาศ
จังหวัดชุมพรอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมที่พัดประจำฤดูกาล 2 ชนิด คือลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดพาเอามวลอากาศชื้นจากมหาสมุทรอินเดียมาสู่ประเทศไทย ระหว่างกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม หรือในฤดูฝน ทำให้มีฝนชุกทั่วไป ส่วนลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดพาเอามวลอากาศเย็นและแห้งจากประเทศจีนมาสู่ประเทศไทย และพัดผ่านทะเลจีนใต้และอ่าวไทย พาเอาไอน้ำและความชื้นมาสู่จังหวัดชุมพร ระหว่างกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ หรือในช่วงฤดูหนาว ทำให้จังหวัดชุมพรมีอากาศเย็นลง กับมีฝนชุกต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง โดยเฉพาะเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน
สภาพทางเศรษฐกิจ
สภาพเศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดชุมพร มีภาคการเกษตร เป็นสิ่งที่ทำรายได้ให้แก่จังหวัดชุมพรมากที่สุด รองลงมาคือภาคการท่องเที่ยว และสุดท้ายคือภาคอุตสาหกรรม ในปี 2564 โครงสร้างเศรษฐกิจของจังหวัดชุมพรพิจารณาจากผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ณ ราคาประจำปี 2564 มีมูลค่าเท่ากับ 130,074 ล้านบาท เป็นสำดับที่ 4 ของภาคใต้ และลำดับที่ 22 ของประเทศ โดยประชากรจังหวัดชุมพรมีค่าเฉลี่ยผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัว (GPP Per Capita) เท่ากับ 259,853 บาท/คน/ปี เป็นลำดับที่ 1 ของภาคใต้ และเป็นลำดับที่ 11 ของประเทศ
ภาคเกษตรกรรม พืชเศรษฐกิจของชุมพรประกอบไปด้วย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน มะพร้าว ไม้ผล รวมไปถึงการปศุสัตว์และการประมง ในด้านการประมง เนื่องจากชุมพรเป็นจังหวัดที่มีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 222 กิโลเมตร การทำประมงจึงสำคัญมาก โดยมีระยะเวลาการทำประมงประมาณ 7-9 เดือน ช่วงที่ทำการประมงไม่ได้คือระหว่างเดือน ตุลาคม-ธันวาคม เนื่องจากเป็นหน้ามรสุม คลื่นลมแรง และช่วงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 15 พฤษภาคม ของทุกปี เพราะเป็นช่วงที่อ่าวไทยห้ามทำการประมงเนื่องจากเป็นฤดูปลาวางไข่
ภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากการเกษตร เช่น อุตสาหกรรมการสกัดน้ำมันปาล์ม อุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็ง อุตสาหกรรมผลิตผลไม้แล้น้ำผลไม้บรรจุกระป๋อง เป็นต้น
การคมนาคม
จังหวัดชุมพร เป็นจังหวัดที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่ตั้ง เนื่องจากตั้งอยู่ในจุดที่เป็นเส้นทางผ่านเชื่อมระหว่างภูมิภาค การติดต่อสื่อสารและการคมนาคมขนส่ง สามารถใช้ได้ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ
1.ทางรถยนต์
การเดินทางโดยรถส่วนตัวจากเส้นทาง หมายเลข 35 เข้าสู่ถนนเพชรเกษม ถึงจังหวัดชุมพร ระยะทาง 498 กิโลเมตร ส่วนรถโดยสารประจำทางจากสถานีขนส่งสายใต้ เปิดให้บริการทุกวัน ปัจจุบันจังหวัดชุมพร มีสถานีขนส่งผู้โดยสารจำนวน 1 แห่ง คือ สถานีขนส่งผู้โดยสารปฐมพร บริหารงาน โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองชุมพรประมาณ 14 กิโลเมตร มีรถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัดเข้าใช้บริการวันละประมาณ 270 เที่ยวส่วนรถโดยสารประจำทางภายในจังหวัดที่เชื่อมต่อไปยังอำเภอและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดจะจอดรถกระจายในเขตเมืองตามจุดจอดของแต่ละเส้นทาง ยังไม่มีจุดศูนย์รวมรถโดยสารในเขตเมือง
2.ทางรถไฟ
ระยะทางจากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ ถึงสถานีรถไฟจังหวัดชุมพรประมาณ485กิโลเมตร รถไฟทุกขบวนจะต้องผ่านจังหวัดชุมพรและอำเภอต่างๆ ของจังหวัดชุมพร ยกเว้น 2 อำเภอ คือ อำเภอท่าแซะ และอำเภอพะโต๊ะ ในแต่ละวันจะมีรถไฟผ่านจังหวัดชุมพรทั้งเที่ยวไป และเที่ยวกลับรวม 20 ขบวน ปัจจุบันสถานีรถไฟจังหวัดชุมพร มีเส้นทางรถโดยสารประจำทางเชื่อมต่ออยู่แล้วจำนวน 4 เส้นทาง ดังนี้
– รถหมวด 1 สายที่ 2 รอบเมืองชุมพร (สายนอก)
– รถหมวด 4 สายที่ 8333 ชุมพร – ท่าแซะ
– รถหมวด 4 สายที่ 8356 ชุมพร – ปะทิว – ท่าอากาศยาน
– รถหมวด 4 สายที่ 8362 ศูนย์ราชการชุมพร – บ้านเขาวง
3.ทางอากาศ
มีท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์ ตั้งอยู่ที่ตำบลชุมโค อำเภอปะทิว ห่างจากตัวเมืองชุมพรประมาณ 40 กิโลเมตร ปัจจุบันสนามบินชุมพรมีเที่ยวบินวันละ 2 เที่ยว (ไป – กลับ กรุงเทพ – ชุมพร)