มหาสารคาม (เดิมชื่อ มหาสาลคาม) เป็นจังหวัดหนึ่งทางตอนกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีอาณาเขตติดกับจังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดขอนแก่น
เมืองศูนย์กลางของจังหวัด คือ เทศบาลเมืองมหาสารคาม ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม หนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

จังหวัดมหาสารคามนอกจากจะมีฉายาเป็น “ดินแดนแห่งสะดืออีสาน” หรืออยู่จุดกึ่งกลางของภาคอีสานแล้ว (จุดกึ่งกลางของภาคอีสาน ตั้งอยู่ที่ บึงกุย หมู่ 13 ตำบลหัวขวาง อำเภอโกสุมพิสัย) นอกจากนี้ยังมีฉายาอีกว่า “ตักสิลานคร” หรือแปลตามตัวคือนครแห่งการศึกษา หรือเมืองแห่งการศึกษาของภาคอีสาน มีสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพและระดับสูงสุดอยู่หลายแห่งและมีมากที่สุดแห่งหนึ่งของภาคอีสาน อีกทั้งยังมีมากเป็นอันดับต้นๆของประเทศไทย

กำเนิดชนชาติลาวล้านช้าง ก่อตั้งอาณาจักรและความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรโบราณ
ขุนบรม ปฐมกษัตริย์ แห่งอาณาจักรแถน หรืออาณาจักรอ้ายลาว(ใหม่) แห่งดินแดนนาน้อยอ้อยหนู (เดียนเบียนฟู ประเทศเวียดนามในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นยุคก่อนจะกำเนิดอาณาจักรสุโขทัยของไทย ได้ส่งพระราชโอรสองค์ใหญ่ พระนามว่า “ขุนลอ” มาครองเมือง ”ซวา” หรือ เมือง”เซ่า” ขับไล่ชาวข่า,ลัวะ,ขมุ ที่เคยครอบครองถิ่นและเมืองนี้มาก่อนให้ออกไปจากเมือง และ ให้นามเมืองใหม่ว่า เมือง ”เชียงดงเชียงทอง” (ต่อมา มีการ เปลี่ยนชื่อมาเป็น “หลวงพระบาง” ในภายหลัง) ต่อมามีกษัตริย์ซึ่งสืบมาจากขุนลอ ครองเมืองถึง 22 พระองค์ จนกระทั่งพระเจ้าฟ้างุ้มมหาราชได้ตั้งตัวเป็นมหากษัตริย์(เชื้อสายขุนลอ) แห่งเมืองเชียงทอง ในปี พ.ศ. 1869 ต่อมาพระเจ้าฟ้างุ้ม ทรงพัฒนาเมืองเชียงทอง ให้กลายมาเป็นอาณาจักรล้านช้างที่ยิ่งใหญ่ และเป็นอาณาจักรอิสระมานับแต่บัดนั้น

แรกเริ่มล้านช้างมีความสัมพันธ์อันดีกับจักรวรรดิขอม โดย พระเจ้าฟ้างุ้มมีพระมเหสีเอกเป็นธิดากษัตริย์ขอม แต่ต่อมาภายหลังอาณาจักรล้านช้างได้เกี่ยวดองกันทางเครือญาติและหันมาเป็นพันธมิตรกับอาณาจักรอยุธยา (แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ ของขุนหลวงพะงั่ว) เพื่อต่อต้านอำนาจของขอม จนอยุธยาสามารถปราบขอมจนสิ้นซาก ในสมัยเจ้าสามพระยา จักรวรรดิขอมที่ยิ่งใหญ่จึงล่มสลายมาตั้งแต่บัดนั้น โดยอาณาจักรอยุธยาได้ครอบครองศูนย์กลางของขอมอย่างเมืองพระนคร ส่วนอาณาจักรล้านช้างได้ขยายอาณาเขตลงมาครอบครองดินแดนบางส่วนของขอมเดิม ประชิดเขตแดนที่บริเวณเมืองพิมายของอยุธยา (ก่อนหน้านั้น เมืองพิมายขึ้นกับขอม) ความสัมพันธ์ระหว่างล้านช้างและอยุธยาจึงเป็นความสัมพันธ์ที่ดีนับตั้งแต่นั้นมา

จนกระทั่งสมัยพระเจ้าโพธิสาลราช พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้าง ได้เกี่ยวดองและสร้างความสัมพันธ์อันดีกับอาณาจักรล้านนา แห่งราชวงศ์มังราย โดยการเสกสมรสกับเจ้าหญิงเมืองเชียงใหม่ และได้ส่งกองกำลังทัพล้านช้างเข้าไปช่วยเชียงใหม่รบกับพม่า (ไทใหญ่) และอยุธยาอยู่หลายครั้ง และชนะทุกครั้ง ภายหลังขุนนางเชียงใหม่เสนอให้พระเจ้าโพธิสาลราชไปเป็นกษัตริย์เมืองเชียงใหม่ แต่พระเจ้าโพธิสาลราชทรงปฏิเสธ แต่ทรงเสนอให้พระราชโอรสของท่านซึ่งกำเนิดแต่ธิดากษัตริย์เมืองเชียงใหม่ไปครองเมืองเชียงใหม่แทนนามว่า “พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช”

ต่อมาในปีพ.ศ. 2093 พระเจ้าโพธิสารทรงสวรรคต พระราชโอรสองค์รองอันเกิดแต่พระเหสีองค์รองต่างแก่งแย่งกันขึ้นเป็นกษัตริย์ อาณาจักรล้านช้าง ณ.ขนะนั้นจึงเกิดความวุ่นวายแบ่งกันเป็นฝักเป็นฝ่าย เหล่าขุนนางจึงอัญเชิญพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชให้กลับไปครองหลวงพระบาง (ล้านช้าง) เพื่อระงับเหตุความวุ่นวายที่เกิดขึ้น พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจึงฝากให้สมเด็จย่า (จิรปภามหาเทวี) รักษาการเมืองเชียงใหม่แทนพระองค์ พร้อมทั้งยังได้อัญเชิญพระแก้วมรกตย้ายไปที่เมืองหลวงพระบางด้วย ต่อมาจึงได้ยกทัพ เข้ายึดอำนาจและบีบพระอนุชาทั้ง 2 ให้ยอมยกราชสมบัติให้แก่ตน จนได้ครองอาณาจักรล้านช้าง ส่วนทางเมืองเชียงใหม่ หลังจากพระเจ้าไชยเชษฐา ไม่ยอมกลับไปครองเมืองเชียงใหม่ต่อซักที ขุนนางจึงอัญเชิญพระเจ้าเมกุติ เจ้าเมืองนาย (เชื้อสายไทยใหญ่ และยังเป็นเชื้อสายราชวงศ์มังราย) ให้ไปเป็นกษัตริย์ครองเมืองเชียงใหม่แทน ต่อมาพระเจ้าบุเรงนองมหาราช พระมหากษัตริย์อาณาจักรพม่า แห่งราชวงศ์ตองอู แผ่อำนาจมายังหัวเมืองไทใหญ่ แล้วจึงผ่านเข้ามาตีเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าเมกุติ สู้ไม่ได้ จึงยอมอ่อนน้อมและยอมส่งบรรณาการทุกปีแก่พม่า เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาทรงทราบข่าว จึงนำกองทัพจะเข้าบุกยึดเมืองเชียงใหม่จากพระเมกุติ ซึ่งขณะนั้นบุเรงนองได้ยกทัพออกไปจากเชียงใหม่เรียบร้อยแล้ว พระเมกุติเมื่อทราบว่าทัพล้านช้างพยายามจะบุกจึงส่งพระราชสาส์นไปยังบุเรงนองให้ส่งกองกำลังกลับมาช่วยตนขับไล่ทัพล้านช้าง บุเรงนองจึงยกทัพกลับไปยังเมืองเชียงใหม่ และส่งกองทัพขับไล่ทัพของพระเจ้าไชยเชษฐาให้กลับไปยังเขตล้านช้าง พระเจ้าไชยเชษฐาเมื่อทราบว่าเชียงใหม่ขึ้นกับบุเรงนองเรียบร้อยแล้ว จึงเลิกทัพหนีกลับไปยังเมืองหลวงพระบาง ต่อมา พระไชยเชษฐาธิราชได้เป็นพันธมิตรกับสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แห่งกรุงศรีอยุธยา เพื่อช่วยกันต่อต้านพระเจ้าบุเรงนองซึ่งกำลังขยายอิทธิพลมาทางดินแดนแถบนี้ ในปี พ.ศ. 2103

หลังจากนั้นพระเจ้าไชยเชษฐาทรงย้ายราชธานีจากเมืองหลวงพระบางไปเมืองเวียงจันทน์อย่างเป็นทางการ ในปี 2106 (สมัยพระเจ้าโพธิสาลราชเคยย้ายลงมาชั่วคราว เพื่อทำศึกกับเมืองพวน) นอกจากนี้ท่านยังสร้างวัดพระแก้วและพระธาตุหลวงเวียงจันทน์ขึ้น ต่อมาพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้ส่งกองทัพไปช่วยอยุธยาอยู่หลายครั้งหลายหน แต่เนื่องจากกองทัพพม่ามีกำลังพลที่มากมหาศาลและแข็งแกร่งเป็นอย่างมาก ส่งผลให้อาณาจักรอยุธยาเสียเอกราชให้แก่พม่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2112 ต่อมาบุเรงนองมีความเคียดแค้นต่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชซึ่งได้ยกทัพลาวเข้าช่วยกองทัพกรุงศรีอยุธยาต่อต้านกองทัพพม่าของตนอยู่หลายครั้ง จึงยกทัพพยายามตีเมืองเวียงจันทน์ ศึกครั้งแรก บุกเข้าเมืองเวียงจันทน์ได้แต่ไม่ได้ตัวของพระเจ้าไชยเชษฐา เนื่องจากท่านไม่ได้อยู่ในเมือง ไปทำธุระทางตอนใต้ของอาณาจักร์ แต่พม่าสามารถจับเชื้อพระวงศ์ได้เป็นจำนวนมาก เช่น เจ้าอุปราชวรวังโส (พระอนุชา) นางคำไบ (พระขนิษฐา) พระหน่อแก้ว (พระราชบุตร) พระราชธิดาทั้ง 3 พระองค์ (สุก เสริม ใส) พระมเหสี เป็นต้น จึงนำตัวส่งลงไปยังกรุงหงสาวดี ศึกครั้งนี้จึงยังไม่อาจพิชิตพระเจ้ากรุงล้านช้างและอาณาจักร์ล้านช้างได้ ต่อมาศึกครั้งที่ 2 บุเรงนองได้นำกองทัพพยายามบุกเวียงจันทน์อีกครั้ง (บุเรงนองบัญชาการนำทัพเอง) แต่ครั้งนี้พระเจ้าไชยเชษฐาทรงพำนักอยู่ที่กรุงเวียงจันทน์เมื่อทรงทราบข่าวว่าทัพพม่ากำลังจะมาบุก พระเจ้าไชยเชษฐาจึงทำการอพยพพลเมืองออกจากเมืองให้หมดและให้ไปหลบซ่อนตัวในสถานที่ที่ปลอดภัย และวางแผนกลยุทธ์แบบกองโจรหรือป่าล้อมเมือง โดยการล่อให้ทัพพม่าเข้าไปในเมือง แล้วจึงให้ทัพลาวเข้าโจมตีแบบกองโจร จนในที่สุดเสบียงอาหารของทางฝั่งพม่าเริ่มร่อยหรอลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ทหารพม่าเริ่มไม่มีแรงและกำลังใจที่จะทำศึกต่อไป ทัพพม่าบุเรงนองจึงทำการถอยทัพออกจากเวียงจันทน์และอาณาเขตล้านช้างในที่สุด ถือว่าครั้งนี้เป็นชัยชนะของทางฝั่งล้านช้างที่นำโดยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่เหนือกว่าทางฝั่งทัพพม่าที่นำโดยบุเรงนองอย่างชัดเจน และต่อมาศึกครั้งที่ 3 ทัพพม่ายังไม่ยอมรามือที่จะบุกยึดล้านช้าง จึงส่งกองทัพมาบุกเวียงจันทน์อีกครั้ง แต่ครั้งนี้พระเจ้าไชยเชษฐาได้หายสาบสูญไปที่เมืองโองการ (คาดว่าน่าจะอยู่ใน แขวงอัตปือ สปป.ลาวในปัจจุบัน) พระยาแสนสุรินทร์ลือชัยจึงสำเร็จราชการแทนและแต่งทัพออกสู้กับกองทัพพม่า แต่กองทัพที่ไร้การนำของพระเจ้าไชยเชษฐาก็ถูกทัพพม่าที่มีจำนวนมหาศาลตีจนแตกและสามารถเข้ายึดเมืองเวียงจันทน์ได้อย่างง่ายดาย ล้านช้างจึงตกเป็นเมืองขึ้นของพม่ามาตั้งแต่บัดนั้น ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2118

ต่อมาในระหว่างล้านช้างตกเป็นเมืองประเทศราชของพม่า พม่าก็ได้ส่งเชื้อพระวงศ์ล้านช้างที่ถูกจับตัวไปเป็นองค์ประกันให้กลับไปครองอาณาจักรล้านช้างอยู่เป็นเนืองๆ ต่อมาสิ้นยุคบุเรงนองเข้าสู่ยุคนันทบุเรง อำนาจและอิทธิพลของพม่าก็เสื่อมถอยลง อันเนื่องมาจาก มีการทำสงครามกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราชซึ่งพยายามปลดเอกราชออกจากพม่า ประมาณ ปี พ.ศ. 2133 – พ.ศ. 2148 เป็นผลให้ล้านช้างปลอดภัยจากอิทธิพลของพม่าในช่วงเวลาขณะนั้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2134 นันทบุเรง จึงส่งพระหน่อแก้วกุมาร พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชกลับไปเป็นกษัตริย์ล้านช้าง เมื่อกลับล้านช้างได้ไม่นานพระหน่อแก้วกุมารจึงทรงได้ประกาศอิสรภาพออกจากพม่า เป็นเอกราชไม่ขึ้นตรงกับพม่าอีกต่อไป หลังจากนี้อาณาจักรล้านช้างจึงเป็นเอกราชและสงบร่มเย็น ปลอดภัยจากการรุกรานของข้าศึกศัตรูยาวนานมาตลอดกว่าร้อยปี

การล่มสลายของอาณาจักรล้านช้าง และ การอพยพของกลุ่มเจ้านายล้านช้างลงไปตั้งเมืองท่งศรีภูมิ เมืองบรรพชนของชาวอีสาน (ขึ้นต่ออาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์และกรุงศรีอยุธยา)
เมื่อประมาณพุทธศักราช 2231 หลังการสวรรคตของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช มหาราชแห่งอาณาจักรล้านช้าง อันมีกรุงเวียงจันทน์เป็นเมืองหลวง ตรงกับ สมัยของสมเด็จพระเพทราชา แห่งอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา เกิดการแย่งชิงอำนาจกันขึ้นภายในอาณาจักร เนื่องจากพระองค์ทรงประหารชีวิตองค์รัชทายาท และไม่มีผู้สืบทอดตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ฝ่ายทายาทและขุนนางต่างแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เพื่อแย่งกันเป็นใหญ่ จนในที่สุดอาณาจักรล้านช้างที่ยิ่งใหญ่จึงถึงคราวล่มสลาย โดยแตกแยกออกเป็น 3 อาณาจักรเล็กอาณาจักรน้อย ได้แก่ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาศักดิ์ พระเจ้าสุริยวงศาธรรมิราช พระองค์ทรงมีพระราชโอรส พระองค์หนึ่งนามว่า “เจ้าองค์หล่อ” อันเกิดแต่พระนางสุมังคละ พระมเหสี ขณะนั้นมีพระชนมายุได้ 3 พรรษา อีกทั้งพระนางสุมังคละ กำลังทรงตั้งพระครรภ์ ขณะนั้นมีขุนนางเสนาบดี นามว่า พระยาเมืองแสน ผู้มีอำนาจบาดใหญ่ สนับสนุนให้เจ้าองค์หล่อได้ขึ้นครองราชสมบัติเป็นกษัตริย์หุ่นเชิดของตน โดยให้ตัวเองเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทน และใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบ ภายหลังเมื่อเจ้าองค์หล่อเติบใหญ่ขึ้น พระยาเมืองแสนไม่ยอมคืนอำนาจให้ อีกทั้งยังขับเจ้าองค์หล่อออกจากราชบัลลังก์โดยมิให้ใครรู้ ต่อมาคิดที่จะบีบบังคับให้พระนางสุมังคละมาเป็นภรรยาของตน แต่พระนางไม่ยอม พระนางจึงพาเจ้าองค์หล่อ อพยพหนีไปพึ่งเจ้าราชครูหลวงโพนเสม็ก (พระสังฆราช แห่งเวียงจันทน์) ซึ่งเป็นที่นับถือของเหล่าบรรดาลูกศิษย์และเชื้อพระวงศ์เป็นจำนวนมาก จึงมีบรรดาเชื้อพระวงศ์มาขอเป็นลูกศิษย์ของท่านมากมาย ซึ่งในนั้นมีเจ้าแก้วมงคลและเจ้าจันทรสุริยวงศ์ เชื้อสายกษัตริย์ราชวงศ์ล้านช้าง พระญาติผู้ใหญ่ของเจ้าองค์หล่อ เป็นศิษย์เอกอยู่ด้วย ต่อมาเจ้าราชครูหลวงคิดว่าถ้าหากให้พระนางมาอาศัยอยู่ด้วยก็เกรงผู้อื่นจะครหานินทา อันเนื่องจากความไม่เหมาะสมและสถานที่อาศัยอยู่โจ่งแจ้งเกินไปและไม่ค่อยปลอดภัยจึงส่งไปไว้ที่ตำบลภูชะง้อหอคำ ต่อมาพระนางสุมังคละทรงได้ประสูติพระโอรสอีกองค์หนึ่ง โดยตั้งพระนามว่า “เจ้าหน่อกษัตริย์” ณ.ที่นั้น

ยุครัฐอิสระ และภายใต้อาณาจักรกรุงธนบุรี
หลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า ในปีพ.ศ. 2310 ส่งผลให้เมืองท่งศรีภูมิ จึงกลายเป็น รัฐอิสระ อย่างน้อย 7 เดือน เนื่องจากพม่ารุกรานเข้ามาไม่ถึงถิ่นเมืองท่ง พม่ารุกรานเพียงแต่ทางฝั่งเมืองหลวง อย่างกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น และเนื่องจากการล่มสลายของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา เมืองขึ้นที่สำคัญต่างๆซึ่งเคยขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา ต่างล้วนแยกตนเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกันและกัน จึงเกิดเป็นก๊กต่างๆหรือชุมนุมขึ้น ได้แก่ ชุมนุมเจ้าพิมาย ชุมนุมเจ้าพระฝาง ชุมนุมพระยาตาก (เป็นก๊กที่แข็งแกร่งที่สุด) ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก และชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช ซึ่งก๊กต่างๆเหล่านี้ (ยกเว้นชุมนุมพระยาตาก) ต่างพยายามแข็งเมืองต่อกลุ่มอำนาจใหม่ที่แข็งแกร่งของพระยาตาก ซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจที่พยายามจะรวบรวมชาติขึ้นใหม่ให้เป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวอีกครั้ง ณ.เวลานี้เมืองท่งศรีภูมิ จึงเปรียบเหมือนเป็นอีกรัฐหรืออีกประเทศหนึ่งที่มีอิสรภาพอย่างโดดเดี่ยวไม่ได้ขึ้นตรงกับรัฐอื่นรัฐใด เจ้าเซียงจึงเป็นเจ้าผู้ครองรัฐอิสระซึ่งมีอำนาจในการบริหารจัดการและปกครองบ้านเมือง-ประชาชนของตนเองได้อย่างเต็มที่ และมีการตรากฎหมายไว้ใช้ในรัฐของตน ซึ่งเรียกว่า “อาณาจักร์หลักคำเมืองสุวรรณภูมิ” ซึ่งถูกตราขึ้นมาครั้งแรกโดยเจ้าสุทนต์มณี เจ้าเมืองท่งคนที่ 3 ในปีพ.ศ. 2307 โดยดัดแปลงมาจาก คัมภีร์โบราณธรรมศาสตร์หลวง กฎหมายล้านช้างโบราณ ซึ่งถูกตราขึ้นโดยพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช มหาราชแห่งอาณาจักรล้านช้าง จึงบอกได้ว่าตั้งแต่สร้างเมืองท่งศรีภูมิในปีพ.ศ. 2256 ในยุคเจ้าจารย์แก้ว จนถึงปีพ.ศ. 2307 มีการใช้กฎหมายล้านช้างโบราณอย่างคำภีร์โบราณธรรมศาสตร์หลวงในการปกครองบ้านเมือง และจึงมีการตราเป็นรูปแบบของตัวเองอย่างเป็นทางการหลังจากปีพ.ศ. 2307 เป็นต้นมา ซึ่งอาณาจักร์หลักคำเมืองสุวรรณภูมินี้เองยังเป็นต้นแบบของ หลักคำเมืองร้อยเอ็ด หรือ กฎหมายของเมืองร้อยเอ็ดในเวลาต่อมา โดยหลักคำเมืองสุวรรณภูมิมีการใช้งานและมีความสำคัญมาโดยตลอดจนถึงยุคร.5 เมื่อยุบเจ้าเมืองเป็นผู้ว่าราชการเมืองจึงมีการเลิกใช้อาณาจักร์หลักคำและหันมาใช้กฎหมายจากส่วนกลางแทน

สร้างเมืองร้อยเอ็ด (สมัยกรุงธนบุรี)
ต่อมาในปี พ.ศ. 2318 ต่อมาไม่นาน พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงโปรดเกล้า ส่งพระยาพรหม พระยากรมท่า ขึ้นมาที่ตั้งสำนัก (ทุ่งสนามโนนกระเบา) อีกครั้ง เพื่อให้มาว่ากล่าวประนีประนอมให้อาว์ (เจ้าทนต์) หลาน (เจ้าเซียงและเจ้าสูน) คืนดีต่อกันและกัน จนเป็นผลสำเร็จ อีกทั้ง พระยาพรหม พระยากรมท่าเล็งเห็นว่าเจ้าสุทนต์มณี เป็นผู้มีความสามารถ มีผู้จงรักภักดีและมีไพร่พลในสังกัดเป็นจำนวนมาก และคาดว่าน่าจะเป็นกำลังสำคัญต่อกรุงธนบุรีได้ในอนาคต จึงมีใบบอกโปรดเกล้าตั้ง บ้านกุ่มฮ้างซึ่งเคยเป็นที่ตั้งเมืองโบราณและรกร้างไป อย่าง “เมืองสาเกตุนครร้อยเอ็ดผักตู” ขึ้นเป็นเมืองใหม่ ให้นามว่า เมือง “ร้อยเอ็ด” ส่วนชาวท้องถิ่นมักเรียกว่า “ฮ้อยเอ็ด” ตามแบบภาษาไท-ลาว โดยแยกเอาดินแดนทิศเหนือจากเมืองสุวรรณภูมิทั้งหมด แล้วยกฐานะเป็นเมืองประเทศราช ขึ้นต่อกรุงเทพฯ และโปรดเกล้าให้เจ้าสุทนต์มณีเป็นเจ้าเมือง มีพระยศว่า “พระขัติยะวงศา” อันหมายถึง ผู้ที่สืบเชื้อสายมาแต่พระมหากษัตริย์ (เจ้าแก้วมงคลพระบิดาสืบมาแต่กษัตริย์ล้านช้าง) ซึ่งเมืองร้อยเอ็ด ณ.ขณะนี้ จึงมีฐานะเป็นเมืองประเทศราช ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ เทียบเท่ากับเมืองท่งศรีภูมิหรือเมืองสุวรรณภูมิราชบุรินทร์ประเทศราช เมืองแม่มาแต่เดิม นับแต่บัดนั้น ต่อมาเจ้าทนต์ได้มีการสร้างวัดวาอาราม ปกครองและปรับปรุงบ้านเมืองให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข โดยเจ้าสุทนต์มณีได้มีการตรากฎหมายขึ้นมาใหม่ ใช้ในการปกครองเมืองร้อยเอ็ดโดยเฉพาะ เรียกว่า “หลักคำเมืองร้อยเอ็ด” อันดัดแปลงและได้รับอิทธิพลมาจาก อาณาจักร์หลักคำเมืองสุวรรณภูมิ (กฎหมายเมืองท่ง) และ คัมภีร์โบราณธรรมศาสตร์หลวง (กฎหมายล้านช้างโบราณ)

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
เจ้าทนต์ หลังจากปกครองเมืองร้อยเอ็ดเกือบ 10 ปี จึงแก่ชราภาพ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าเมืองอีกต่อไปได้ จึงลาออกจากราชการ ในปีพ.ศ. 2326 รัชการที่ 1 จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าทนต์ เป็นที่ “พระนิคมจางวาง” และโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวสีลัง บุตรชายของเจ้าทนต์ เป็นที่ “พระขัติยวงศา” เจ้าเมืองร้อยเอ็ด คนที่ 2 แต่งตั้งให้ท้าวภูเป็นเจ้าอุปราช และท้าวอ่อนเป็นราชวงศ์ ต่อมาท้าวสีลัง มีความชอบจากการช่วยราชการสงคราม จึงโปรดเกล้า ให้เลื่อนพระยศเป็นที่ “พระยาขัติยะวงศาพิสุทธาธิบดี”

ต่อมาทางฝั่งเมืองสุวรรณภูมิ ในปี พ.ศ. 2330 หลังจากเจ้าสูนได้เป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ คนที่ 5 เจ้าสูนจึงส่งท้าวเพ บุตรชายของเจ้าเซียง และแบ่งไพร่พล ให้ จำนวน 600 คน ไปตั้งเมืองบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งถิ่นฐานโบราณ อย่าง เมืองหนองหานน้อยและชุมชนเก่า(ชุมชนเก่าบ้านเชียง) แยกออกไปตั้งเมืองใหม่ ให้ชื่อเมืองว่า “เมืองหนองหาน” (อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี) โดยขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ เพื่อป้องกันไม่ให้หลานของตนคิดที่จะแย่งชิงตำแหน่งเจ้าเมือง ต่อมา ในปี พ.ศ. 2335 เจ้าสูนถูกทิดโคตรลอบฟันจนถึงแก่พิราลัย ตำแหน่งเจ้าเมืองจึงว่าง

ต่อมาท้าวอ่อนผู้เป็นบุตรของเจ้าทนต์ได้รับโปรดเกล้าให้ไปเป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ แทนที่เจ้าสูนเจ้าเมืองเดิมที่พึ่งถูกทิตโคตรลอบสังหารจนถึงแก่พิราลัยจึงส่งผลให้ขั้วการเมืองสุวรรณภูมิถูกเปลี่ยนจากฝ่ายเจ้าเซียงเปลี่ยนเป็นฝ่ายเจ้าสุทนต์มณี อันเป็นผลให้ ลูกหลานเจ้าเซียง เจ้าเมืองท่งศรีภูมิ ท่านที่ 4 ไม่พอใจ และรู้สึกไม่ปลอดภัยต่อครอบรัวของตน (เกรงว่าทางฝ่ายเจ้าสุทนต์จะกลับมาแก้แค้น) จึงต่างพร้อมใจพากันไม่สมัครทำราชการขึ้นต่อท้าวอ่อน ในสมัยนี้จึงมีการแยกกันไปสร้างเมืองที่สำคัญขึ้นใหม่หลายแห่ง เช่น เมืองชลบทวิบูลย์ (อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น) ในปีพ.ศ. 2335 เมืองขอนแก่น (จังหวัดขอนแก่น) ในปีพ.ศ. 2340 เมืองพุทไธสง (อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์) ในปีพ.ศ. 2342 เป็นต้น

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนปลาย และสร้างเมืองมหาสารคามแยกออกจากเมืองร้อยเอ็ด (รัชกาลที่4)
หลังจากที่พระยาขัติยะวงศา(สีลัง) ถึงแก่พิราลัย เจ้าอุปราชสิงห์ พร้อมด้วยราชวงศ์อิน กรมการเมืองร้อยเอ็ด บุตรชายท้าวสีลัง ได้นำใบบอกไปขอศิลาหน้าเพลิง ที่กรุงเทพฯ และโปรดเกล้าฯ ให้พระยาพิสัยสรเดช (ท้าวตาดี) เจ้าเมืองโพนพิสัยคนแรก (ปัจจุบันคือ อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย) ซึ่งถูกเรียกลงไปยังกรุงเทพ ให้ไปเป็นผู้รักษาราชการเมืองร้อยเอ็ดแทนพระบิดาของตน (ท้าวตาดี เป็นบุตรชายคนโตของท้าวสีลัง) ต่อมาหลังจากจัดการพระราชทานเพลิงศพท้าวสีลัง พระบิดาของพวกตน เรียบร้อยแล้ว เจ้าอุปราชสิงห์ได้มีการจัดให้มีการเล่นโปขึ้น ที่หอนั่งในจวนเจ้าเมือง อุปราชสิงห์จึงชักชวนให้พระพิสัยฯ (พี่ชาย) ให้ไปร่วมเล่นด้วย พระยาพิสัยฯจึงตอบตกลง ระหว่างที่กำลังเล่นกันอยู่นั้นก็มีคนร้ายลอบแทงพระยาพิสัยฯ โดนที่สีข้างด้านซ้ายจนถึงแก่ความตาย ซึ่งในขณะเดียวกัน ท้าวภู หรือพระรัตนวงษา(ภู) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ น้องชายของท้าวสีลัง ก็ขึ้นมาปลงพระศพของผู้เป็นพี่ชายด้วย ท้าวภูจึงพร้อมกับกรมการเมืองได้พยายามทำการสืบหาเสาะหวตัวคนร้าย จึงได้ความว่า มีชายเชื้อสายจีนคนหนึ่งนามว่า “จั๊น” หรือมีฉายาว่า ”เจ๊กจั๊น” ซึ่งเคยเป็นคู่อริกับพระพิสัยฯมาก่อนหน้านั้น เป็นคนร้ายที่ลอบแทงพระพิสัยฯจนถึงแก่ความตาย อีกทั้งท้าวภู มีความสงสัยในเจ้าอุปราชสิงห์หลานชายของตน เนื่องจากเป็นผู้อยู่ร่วมในเหตุการณ์และเป็นผู้จัดงานในการเล่นโปจนเป็นที่มาของเหตุโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นนี้ และท้าวภูยังคิดว่าการที่ท้าวตาดีซึ่งได้เป็นเจ้าเมืองโพนพิสัยอยู่แล้วกลับได้รักษาการเมืองร้อยเอ็ด แทนที่จะเป็นอุปราชสิงห์ อาจเป็นเหตุให้เจ้าอุปราชสิงห์มีความอิจฉาและอาจวางแผนที่จะสังหารพี่ชายของตน จึงจับตัวท้าวสิงห์พร้อมกับเจ๊กจั๊นส่งลงไปยังกรุงเทพฯ ระหว่างการเดินทางใกล้ที่จะถึงเมืองนครราชสีมานั้น ท้าวสิงห์ได้กินยาพิษจนถึงแก่ความตายก่อน ซึ่งยังไม่ได้มีการไต่สวนพิพากษาคดีให้ชัดแจ้งแต่ประการใด คดีจึงเป็นอันระงับและเป็นที่กังขาต่อลูกหลานของท่านตลอดมา

ต่อมาท้าวกวดบุตรชายของท้าวสิงห์ ซึ่งมีอายุ 11 ขวบ ในขณะที่บิดาของตนกำลังถูกส่งไปยังกรุงเทพฯ (ไปไม่ถึงกรุงเทพฯ) ผู้เป็นมารดาและญาติที่ใกล้ชิดหวาดระแวงและเกรงกลัวว่าท้าวกวดจะได้รับอันตรายตามบิดาของตนไปด้วย จึงส่งตัวท่านให้ไปอยู่ที่เมืองสุวรรณภูมิ ต่อมาพระญาติเกรงว่าถ้าหากท้าวกวดยังอยู่ใกล้กับถิ่นฐานของตนมากเกินไปอาจจะเกิดภัยอันตรายขึ้นได้ง่าย (อาจมีคนที่ใกล้ชิดคิดปองร้าย) ท้าวกวดจึงถูกส่งตัวไปยังเขตแขวงเมืองยโสธรโดยพระญาติมิได้มีการฝากฝังไว้กับใครเลย ท้าวกวดจึงกลายเป็นคนพเนจร เดินทางอย่างโดดเดี่ยวเพียงลำพัง อาศัยนอน กิน อยู่ตามถนนหนทาง และศาลาวัด (วัดใกล้เมืองยโสธร) ขอเศษข้าวเศษอาหารจากญาติโยมที่เอานำไปถวายวัด ไปวันๆ มีความทุกข์ทรมาณ จากลูกผู้ดี ชนชั้นเจ้านาย มีอันจะกิน ต้องตกระกำลำบาก เช่นนี้ นานถึง 6 เดือนกว่า จึงจะโชคดี และได้พบกับสมภารทองสุก (ชาวยโสธร) ขณะที่ ท้าวกวดกำลังนอนหลับบนศาลา สมภารทองสุกจึงปลุกและถามสารทุกข์สุขดิบกับท้าวกวดว่าเหตุใดจึงมานอนบนศาลาเช่นนี้ ท้าวกวดจึงเล่าความจริงให้แก่สมภารทองสุกให้ได้ทราบ สมภารทองสุกจึงเกิดความสงสาร จึงได้ทำการบรรพชาให้ท้าวกวดเป็นสามเณร เล่าเรียนภาษาบาลีและภาษาไทย ศึกษาพระธรรมวินัย จนรู้ลึกและแตกฉาน ต่อมาได้อุปสมบทต่อได้ประมาณ 2 พรรษา ก็ได้ลาสิกขา ออกไปทำราชการขึ้นกับเมืองอุบลราชธานี ได้รับการดูแลอย่างดีจากกรมการเมืองอุบลฯ จนมีความดีความชอบจนได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ “ท้าวมหาชัย”

จนต่อมา ท้าวกวดได้รับจดหมายจากพระขัติยะวงศา (จันทร์) เจ้าเมืองร้อยเอ็ด เรียกตัวให้กลับไปทำงานรับราชการที่เมืองร้อยเอ็ดท้าวกวดจึงได้กลับไปรับราชการที่เมืองร้อยเอ็ดและอยู่กับพระญาติของตน เมื่อราวประมาณปี พ.ศ. 2399 และในปีพ.ศ. 2402 รัชการที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ข้าหลวงกองสักออกไปสักเลขทางหัวเมืองตะวันออกเฉียงเหนือ กรมการเมืองร้อยเอ็ดได้นำตัวเลขไปสัก ปรากฏว่ามีจำนวนมากถึง 13,000 คนเศษ ท้าวจันทร์ เจ้าเมืองร้อยเอ็ดจึงคิดว่า พลเมืองของเมืองร้อยเอ็ดมีจำนวนมากอีกทั้งท้าวกวดมีความชอบในราชการมากมาย ทั้งซื่อสัตย์ มีสติปัญญาที่ดี สมควรได้แยกออกไปตั้งเมืองใหม่ เป็นเจ้าเมือง ท้าวจันทร์จึงถกกันกับกรมการเมืองร้อยเอ็ด ผลปรากฏว่า ต่างเห็นดีเห็นชอบให้แยกออกไปตั้งเมืองใหม่ ท้าวจันทร์เจ้าเมืองร้อยเอ็ดจึงเห็นชอบ ให้ท้าวกวดแยกออกไปตั้งเมืองใหม่ขึ้น ซึ่งท้าวมหาชัยหรือกวดนี้เอง เป็นต้นตระกูล ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม ต่อมาในปี พ.ศ. 2412 ให้แยกเมืองมหาสารคามออกจากเมืองร้อยเอ็ดและยกฐานะเมืองมหาสารคามขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร และเปลี่ยนตำแหน่งยศ ของอรรคฮาช อรรควงศ์ และ อรรคบุตรให้เลื่อนขึ้นเป็นอุปฮาช(อุปราช) ราชวงศ์ ราชบุตร ตามลำดับ

ศึกปราบฮ่อที่เมืองหนองคาย และการยกฐานะเมืองมหาสารคามเป็นเมืองประเทศราชของกรุงรัตนโกสินทร์ตอนปลาย
ต่อมา พ.ศ. 2418 พวกฮ่อได้ยกทัพมาตีหัวเมืองขึ้นและประเทศราชของไทย ยึดเมืองหลวงพระบางและเมืองพวนได้จึงรุกต่อมาจะยึดบริเวณที่เคยเป็นเมืองเวียงจันทน์ (เดิม) แต่ร้างไป ซึ่งเป็นเขตแดนของเมืองหนองคายในขณะนั้นและจะยึดเมืองหนองคายอย่างต่อเนื่อง รัชการที่ 5 ทรงโปรดเกล้าให้ พระยามหาอำมาตย์ (ชื่น) ขึ้นไปปราบโจรฮ่อที่เมืองหนองคาย พระยามหาอำมาเขา (ชื่น) ได้สั่งให้พระเจริญราชเดช (กวด) เป็นแม่ทัพหน้า และให้ราชบุตรเสือ เมืองร้อยเอ็ดเป็นนายกองผู้ช่วยพระเจริญราชเดช (กวด) เกณฑ์กำลังเมืองร้อยเอ็ด เมืองมหาสารคาม ยกไปสมทบกับทัพเมืองอุบลราชธานีและเมืองกาฬสินธุ์ ทัพไทยได้ยกไปตีจนฮ่อแตกพ่าย ซึ่งระหว่างการทำศึก ราชบุตร (เสือ) ถูกฮ่อยิงโดนมือขวาจนเลือดไหล ไพร่พลจึงช่วยกันพยุงพากลับเมือง ส่วนทางฝั่งพระเจริญราชเดช (กวด) ได้ถูกฮ่อยิงที่แขนซ้ายและต้นขาซ้าย อาการสาหัส ไพร่พลจึงพากันช่วยพยุงจะพากลับ แต่พระเจริญราชเดช (กวด) ไม่ยอมกลับ อ้างว่า “กลับไปก็อายเขา เมื่อถึงที่ตายก็ขอให้ตายในที่รบ” จึงสั่งให้ไพร่พลพาขึ้นหลังม้าและออกไปรบต่อ

ต่อมากองทัพไทยได้ชัยชนะ ตีพวกฮ่อจนแตกหนีไป ทัพไทยจับพวกฮ่อเป็นเชลยได้จำนวนมากพร้อมอาวุธมากมาย หลังจากเสร็จศึกปราบฮ่อเรียบร้อยแล้ว. พระยามหาอำมาตย์(ชื่น) ข้าหลวงใหญ่ภาคอีสานกลับไปจัดราชการอยู่ที่เมืองร้อยเอ็ดต่อ ส่วนพระเจริญราชเดช (กวด) ซึ่งถูกยิงจนอาการสาหัส มีอาการป่วยได้กลับมาพักรักษาตัวที่เมืองมหาสารคาม

ด้วยคุณงามความดีของท่าน รัชการที่ 5 จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเลื่อนฐานะของท้าวกวด ให้เทียบเท่าเจ้าเมืองประเทศราช ยกฐานะเมืองมหาสารคามเป็นเมืองประเทศราช พระราชทานนามบรรดาศักดิ์ ให้แก่ พระเจริญราชเดช (มหาชัยกวด) เป็นที่ พระเจริญราชเดชวรเชษฐมหาขัติยพงศ์สุรชาติ ประเทศราชธำรงค์รักษ์ ศักดิ์กิติยศเกรียงไกร ศรีพิชัยเทพวราฤทธิ์พิษณุพงศ์ปรีชา สิงหบุตรสุวัฒนา นคราภิบาล ถือได้ว่าท่านได้รับพระราชทินนามที่สมศักดิ์ศรีของเจ้าเมืองประเทศราชที่ได้กระทำคุณงามความดีให้แก่แผ่นดินไทย และต่อมา เป็นผลมาจากความบอบช้ำสาหัสจากสงคราม ท่านจึงได้ถึงแก่พิราลัยลง ในปีพ.ศ. 2421 สิริมายุรวม 43 ปี พระเจริญูราชเดช หรือท้าวมหาชัย (กวด) มีอีกพระนามว่า “อาชญาพ่อหลวงมหาชัย” อันเนื่องมาจากท่านเป็นที่เคารพนับถือของลูกหลานชาวมหาสารคาม จากคุณงามความดีที่ท่านได้ทำไว้แก่ชาติบ้านเมือง ปกป้องบ้านเมืองด้วยชีวิต อย่างกล้าหาญและไม่กลัวตาย

หลังศึกปราบฮ่อ
ต่อมา เจ้าอุปราชฮึง เล็งเห็นว่า ท้าวสุพรรณ บุตรพระเจริญราชเดชสมควรที่จะขึ้นเป็นเจ้าเมืองต่อไป จึงร่วมกันปรึกษากับกรมการเมือง จึงเป็นที่แน่ชัดว่าควรให้ท้าวสุพรรณลงไปกรุงเทพฯ เพื่อขอพระราชทานเป็นเจ้าเมือง แต่ปรากฏว่าระหว่างการเดินทางลงกรุงเทพท้าวสุพรรณได้ถึงแก่กรรมเสียก่อนในระหว่างทาง ตำแหน่งเจ้าเมืองมหาสารคามจึงได้ว่างเว้นไปถึง 2 ปี โดยมีผู้รักษาการคือเจ้าอุปราช(ฮึง)

พ.ศ. 2422 ขุนหลวงสุวรรณพันธนากร (คำภา) และขุนสุนทรภักดี ผู้ที่หลอกตัวเองว่าเป็นข้าหลวงเชิญท้องตราราชสีห์เที่ยวอ้างไปทั่ว โดยอ้างว่าตนขึ้นมาช่วยชำระคดีแก่ราษฎร เจ้าอุปราช (ฮึง) ไม่เชื่อจึงจับตัวทั้งคู่ ส่งตัวลงไปยังกรุงเทพฯ ในปีเดียวกัน ผลปรากฏว่าเป็นพวกหลอกลวงต้มตุ๋นจริง จากความดีความชอบ รัชการที่ 5 จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เจ้าอุปราช (ฮึง) ขึ้นเป็นเจ้าเมืองมหาสารคาม เป็นที่ “พระเจริญราชเดช” (ฮึง) และในปีเดียวกันได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองพยัคฆภูมิพิสัย ขึ้นเป็นเมืองชั้นตรีขึ้นกับเมืองชั้นเอกอย่างเมืองสุวรรณภูมิ แรกเริ่มตั้งเมืองเลยเขตแดนมายังเขตเมืองมหาสารคาม ภายหลังถูกเจ้าเมืองมหาสารคามท้วงติง จึงถอยกลับไปตั้งเมืองในเขตแดนเมืองสุวรรณภูมิแทน เนื่องด้วยสาเหตุดังกล่าว เพื่อความได้เปรียบในการรับรองเขตแดน

ปี พ.ศ. 2425 เจ้าเมืองมหาสารคาม มีใบบอกขอโปรดเกล้า ยกบ้านนาเลาขึ้นเป็นเมือง “วาปีปทุม” แต่ไม่ได้ไปตั้งเมืองที่บ้านนาเลา ตามที่ร้องขอไว้ แต่กลับไปตั้งที่บ้านหนองแสงแทน (แย่งเขตแดนของเมืองสุวรรณภูมิ) และต่อมาโปรดเกล้า ให้ยกบ้านวังทาหอขวาง (บึงกุย) ขึ้นเป็นเมือง “โกสุมพิสัย”

ต่อมาในปี พ.ศ. 2432 เจ้าอุปราชเมืองสุวรรณภูมิ (รักษาการ) มีใบบอกกล่าวโทษต่อ เมืองมหาสารคาม เมืองศรีสะเกษ เมืองสุรินทร์ ว่าแย่งเอาเขตของตนไปตั้งเป็นเมือง กล่าวคือ เมืองมหาสารคาม ขอเอาบ้านนาเลาตั้งเป็นเมืองวาปีปทุมขึ้นเมืองมหาสารคาม (ซึ่งไม่ได้ตั้งตามที่ขอไว้ แต่ไปตั้งเมืองล้ำเข้าไปในเขตเมืองสุวรรณภูมิจริง) เมืองศรีสะเกษ ขอเอาบ้านโนนหินกองตั้งเป็นเมืองราษีไศลขึ้นเมืองศรีสะเกษ และเมืองสุรินทร์ ขอเอาบ้านทัพค่ายตั้งเป็นเมืองชุมพลบุรีขึ้นเมืองสุรินทร์ จึงได้โปรดเกล้า ให้ข้าหลวงนครจำปาศักดิ์ ข้าหลวงอุบลราชธานี ให้ทำการไต่สวนว่ากล่าวในเรื่องนี้ ผลการสอบสวนปรากฏว่าได้คำสัตย์จริงดังที่เจ้าเมืองสุวรรณภูมิได้กล่าวโทษไว้ แต่เมืองเหล่านี้ได้ตั้งมานานหลายปีแล้ว อีกทั้งยังมีชุมชนตั้งเป็นหลักเป็นแหล่งอย่างเข้มแข็ง จึงรื้อถอนได้ยาก จึงทรงโปรดเกล้า ให้เมืองวาปีปทุม เมืองราษีไศล เมืองชุมพลบุรี เป็นเมืองขึ้นของเมืองมหาสารคาม เมืองศรีสะเกษ เมืองสุรินทร์ ตามลำดับตามเดิม โดยมิให้โยกย้ายหรือรื้อถอนแต่ประการใด

การลดทอนอำนาจของเจ้าเมืองประเทศราชและเมืองขึ้นในดินแดนภาคอีสานให้มาอยู่ในการกำกับดูแลของข้าหลวงต่างพระองค์ และการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ต่อมาในปีพ.ศ. 2433 โปรดเกล้า ส่งข้าหลวงใหญ่ต่างพระองค์ ไปกำกับราชการ(หัวเมืองตะวันออก) แบ่งออกแป็น 4 ส่วน คือ 1.หัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ 2.หัวเมืองลาวฝ่ายกลาง 3.หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก 4.หัวเมืองลาวตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเมืองมหาสารคามขึ้นกับหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ โดยข้าหลวงถูกส่งมาจากส่วนกลางให้มาช่วยกำกับดูแลเจ้าเมือง (การจะกระทำการอันใดจะต้องผ่านความเห็นชอบของข้าหลวงกำกับเมืองด้วย จึงจะพึงปฏิบัติได้) ถือว่าเป็นการลดทอนอำนาจของเจ้าเมืองพื้นถิ่นลงไปอย่างมาก กล่าวคือ เมืองประเทศราชหรือฐานะของความเป็นเมืองประเทศราชของเมืองต่างๆภายในภาคอีสานต่างถูกยุบและยกเลิกอย่างเป็นทางการและขึ้นกับส่วนกลางโดยตรงตั้งแต่ครั้งที่ส่วนกลางส่งข้าหลวงมากำกับดูแลเจ้าเมืองนั้นเอง (ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2433 เป็นต้นมา) ส่วนข้าหลวงกำกับเมืองก็ขึ้นตรงกับข้าหลวงใหญ่แต่ละฝ่าย และข้าหลวงใหญ่ขึ้นตรงกับส่วนกลางอีกที ซึ่ง เมืองมหาสารคาม ร้อยเอ็ด และเมืองกาฬสินธุ์ ขึ้นอยู่ในความปกครองของข้าหลวงเมืองอุบลฯ(ในกรณีเมืองชั้นเอกจะขึ้นกับทั้งข้าหลวงที่ถูกส่งไปกำกับและขึ้นกับกรุงเทพควบคู่กัน ในส่วนเมืองชั้นตรีโทจัตวาจะขึ้นกับเมืองชั้นเอกอีกทีหนึ่ง และเมืองชั้นเอกไม่ได้ขึ้นตรงต่อกันและกันแม้ว่าเมืองชั้นเอกเมืองใดจะเป็นที่ตั้งศูนย์บัญชาการข้าหลวงก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น เมืองกาฬสินธุ์ซึ่งเป็นเมืองชั้นเอกขึ้นกับข้าหลวงเมืองอุบลโดยข้าหลวงท่านหนึ่งสามารถกำกับและมีเจ้าเมืองชั้นเอกขึ้นตรงได้หลายเมือง แต่เมืองกาฬสินธุ์ไม่ได้ขึ้นกับเมืองอุบลราชธานีแต่ขึ้นกับกรุงเทพฯ (เพราะเมืองอุบลราชธานีก็คือเมืองชั้นเอกที่ต้องขึ้นกับข้าหลวงกำกับและขึ้นกับกรุงเทพฯด้วยเช่นกัน) และเมืองกุดสิมนารายณ์ซึ่งเป็นเมืองชั้นตรีก็ขึ้นกับเมืองกาฬสินธ์อีกที เป็นต้น ดังนั้น ตำแหน่งข้าหลวงกำกับชื่อเมืองนั้นๆ,ข้าหลวงใหญ่,ข้าหลวงประจำบริเวณหรือมณฑลนั้นๆที่มีชื่อต่อท้ายด้วยชื่อเมืองนั้นๆ จึงเป็นเพียงแค่การใช้พื้นที่หรือเขตแดนของเมืองนั้นๆบางส่วนไปตั้งกองบัญชาการข้าหลวง (ศูนย์กลาง) ขึ้นและเมืองหรือเจ้าเมืองที่กองบัญชาการข้าหลวงนั้นๆได้ไปตั้งก็ต้องขึ้นกับกองข้าหลวงนั้นๆที่ได้ไปตั้งในพื้นที่เมืองของตนด้วยเฉกเช่นเดียวกัน)

ต่อมา ส่วนกลางส่งให้นายรองชิต (เลื่อง ณ นคร ) เป็นข้าหลวงกำกับราชการเมืองร้อยเอ็ดและเมืองมหาสารคาม ซึ่งตั้งที่ทำการข้าหลวงอยู่ที่เมืองมหาสารคาม ในปี พ.ศ. 2435 (เป็นครั้งแรก)

พ.ศ. 2437 มีการโอนเมืองชุมพลบุรีจากแขวงเมืองสุรินทร์ให้มาขึ้นตรงต่อเมืองมหาสารคามชั่วคราว ต่อมาประมาณ 6 ปี จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2443 มีการยุบเมืองชุมพลบุรีเป็นอำเภอชุมพลบุรีแล้วจึงโอนย้ายกลับไปขึ้นกับเมืองสุรินทร์เหมือนเดิม) ในปีเดียวกันนั้น มีการแบ่งหัวเมืองในมณฑลอีสานออกเป็นบริเวณ 5 บริเวณ(ซึ่งเมืองในสังกัดบริเวณไม่จำเป็นจะต้องขึ้นตรงหรือกลายเป็นอำเภอขึ้นกับเมืองที่ถูกตั้งเป็นศูนย์กลางบริเวณเสมอไป) โดยแบ่งออกเป็นได้ดังนี้ คือ 1) บริเวณอุบล 2) บริเวณจำปาศักดิ์ 3) บริเวณร้อยเอ็ด 4) บริเวณบริเวณขุขันธ์ 5) บริเวณสุรินทร์ โดยที่บริเวณร้อยเอ็ดมีเมืองที่สังกัดต่อข้าหลวงประจำบริเวณ ทั้งหมด คือ 5 หัวเมือง คือ 1) เมืองร้อยเอ็ด 2) เมืองมหาสารคาม 3) เมืองกาฬสินธุ์ (ถูกยุบลงเป็นอำเภออุทัยกาฬสินธุ์ขึ้นกับจังหวัดร้อยเอ็ด ภายหลังเมื่อมีการตั้งมณฑลร้อยเอ็ดขึ้น จึงถูกยกฐานะเป็นจังหวัดอุทัยกาฬสินธุ์ แล้วต่อมาถูกยุบเป็นอำเภอหลุบขึ้นกับจังหวัดมหาสารคาม อีกครั้งใน ปี 2474 ในยุคข้าวยากหมากแพง แล้ว กลับตั้งเป็นจังหวัดกาฬสินธุ์ขึ้นใหม่ เมื่อปี 2490) 4) เมืองสุวรรณภูมิ (ภายหลังถูกยุบลงเป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดร้อยเอ็ด) 5) เมืองกมลาไสย (ภายหลังถูกยุบลงเป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดกาฬสินธุ์)
ในปี พ.ศ. 2440 ได้มีการให้ยุบตำแหน่งเจ้าเมือง เป็น ผู้ว่าราชการเมือง ลดบทบาทเจ้าเมืองลงให้มาขึ้นกับส่วนกลางอย่างเต็มที่
พ.ศ. 2443 อุปฮาด (เถื่อน รักษิกจันทร์) ได้รักษาการเมืองมหาสารคาม เป็นผู้ว่าราชการเมือง หรือ เจ้าเมืองคนที่ 3
พ.ศ. 2444 เมืองมหาสารคาม มีอำเภอภายใต้การปกครอง ทั้งหมด 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภออุทัยสารคาม อำเภอประจิมสารคาม อำเภอโกสุมพิสัย และอำเภอวาปีปทุม
พ.ศ. 2446 มีการยุบตำแหน่งข้าหลวงกำกับราชการเมืองทิ้ง และในปีเดียวกัน พระพิทักษ์นรากร(อุ่น) ได้เป็นผู้ว่าราชการเมือง ต่อมาภายหลัง ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองมหาสารคามคนที่ 4 มีทินนามว่า “พระเจริญราชเดช(อุ่น)”
พ.ศ. 2451 ส่วนกลางเปลี่ยน บริเวณ เป็น เมือง กล่าวคือ ให้บางบริเวณที่เป็นที่ตั้งศูนย์กลางบริเวณ (เมืองใหญ่ที่สุดในบริเวณ) ให้เปลี่ยนเป็นเมือง (เทียบเท่าจังหวัด) และให้เมืองบริวาร (เมืองรองในบริเวณ) ลดฐานะเป็นอำเภอขึ้นกับเมืองที่เป็นที่ตั้งศูนย์กลางบริเวณ และในปีเดียวกัน ภายหลังมีการยุบเมืองสุวรรณภูมิให้กลายเป็นอำเภอขึ้นตรงต่อจังหวัดร้อยเอ็ด จึงมีการโอนอำเภอพยัคฆภูมิพิสัยซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของเมืองสุวรรณภูมิ ให้โอนไปขึ้นกับจังหวัดร้อยเอ็ด
ในปี พ.ศ. 2456 มีการเปลี่ยน ที่ว่าการเมือง เป็น ศาลากลางจังหวัด และเปลี่ยนคุ้มของเจ้าเมือง เป็น จวนผู้ว่าราชการเมือง
พ.ศ. 2454 ย้ายอำเภอประจิมสารคาม ไปทางทิศตะวันตก และเปลี่ยนนาม เป็น อำเภอท่าขอนยาง และเปลี่ยนนามอำเภออุทัยสารคาม เป็น อำเภอเมืองมหาสารคาม
พ.ศ. 2459 มีการยกเลิกตำแหน่งปลัดมณฑลประจำจังหวัด และในปีเดียวกัน มีการเปลี่ยนชื่อผู้ว่าราชการเมือง เป็น ผู้ว่าราชการจังหวัด
พ.ศ. 2456 รัชการที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งมณฑลใหม่ขึ้นเป็น ”มณฑลร้อยเอ็ด” ตั้งที่ทำการมณฑลที่เมืองร้อยเอ็ด ซึ่งมณฑลร้อยเอ็ดประกอบด้วย จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดกาฬสินธุ์ ในปีนี้ได้มีการจัดตั้งศาลยุติธรรมขึ้นเป็นครั้งแรกของจังหวัดมหาสารคาม มีการโอนอำเภอพยัคฆภูมิพิสัยจากจังหวัดร้อยเอ็ดให้มาขึ้นกับจังหวัดมหาสารคาม และโอนอำเภอกันทรวิชัย (อำเภอโคกพระ) จากจังหวัดกาฬสินธุ์ให้มาขึ้นกับจังหวัดมหาสารคาม ในปีเดียวกันนี้ จังหวัดมหาสารคามจึงมีอำเภอภายใต้การปกครองรวมทั้งหมด 6 อำเภอ ได้แก่ 1) อำเภอเมืองมหาสารคาม 2) อำเภอโกสุมพิสัย 3) อำเภอเมืองวาปีปทุม 4) พยัคฆภูมิพิสัย 5) อำเภอท่าขอนยาง (อำเภอบรบือ) 6) อำเภอกันทรวิชัย (อำเภอโคกพระ)
ในปี พ.ศ. 2457 ได้มีการสร้างศาลากลางจังหวัดขึ้นใหม่ ก่อสร้างเสร็จในปี 2467
ต่อมา พ.ศ. 2468 โปรดเกล้าฯ ให้ยุบมณฑลร้อยเอ็ดเป็นจังหวัด โอนจังหวัดทั้งหมดที่เคยขึ้นตรงต่อมณฑลร้อยเอ็ด คือ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดกาฬสินธุ์ ให้ไปขึ้นอยู่กับมณฑลนครราชสีมา
พ.ศ. 2474 ในยุคข้าวยากหมากแพง ส่งผลให้ต้องมีการลดค่าใช้จ่ายและงบประมาณลง จึงได้มีการยุบจังหวัดกาฬสินธุ์ (หรืออุทัยกาฬสินธุ์) ลงเป็นอำเภอ ให้มารวมกับจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งอำเภอเมืองอุทัยกาฬสินธ์จึงเปลี่ยนชื่อเป็น ”อำเภอหลุบ” ขึ้นกับจังหวัดมหาสารคาม และโอนอำเภอที่เคยขึ้นต่อจังหวัดกาฬสินธุ์มาขึ้นกับจังหวัดมหาสารคามทั้งหมด รวมอำเภอที่ขึ้นกับจังหวัดมหาสารคามได้ทั้งหมดเป็น 11 อำเภอ ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่อาณาเขตของจังหวัดมหาสารคามมีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา (รวมพื้นที่ทั้งจังหวัดมหาสารคามและจังหวัดกาฬสินธุ์ในปัจจุบัน)
การเปลี่ยนแปลงการปกครองหลัง การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475
ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็น ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยคณะราษฎร์ ซึ่งนำโดย พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช และพระยาฤทธิอาคเณ

ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 รัชการที่ 7 ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ชาวสยาม ในปีเดียวกัน จังหวัดมหาสารคามได้จัดตั้ง “สาขาสมาคมคณะราษฎร์” ประจำจังหวัดมหาสารคาม ขึ้นเป็นครั้งแรก
ในปี พ.ศ. 2476 เดือนกันยายน จังหวัดมหาสารคาม มีการจัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนตำบล เป็นครั้งแรก และ ในปีเดียวกัน เดือน พฤศจิกายน จังหวัดมหาสารคาม มีการจัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร เป็นครั้งแรก โดยให้ผู้แทนตำบลทั่วทั้งจังหวัดเป็นผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง และต่อมา ได้เปลี่ยน ”ผู้ว่าราชการจังหวัด” เป็น “ข้าหลวงประจำจังหวัด” ภายหลังได้เปลี่ยนกลับมาใช้คำว่า” ผู้ว่าราชการจังหวัด” อีกครั้ง

ในปีพ.ศ. 2490 แยกอำเภอกาฬสินธุ์(หลุบ) และบางอำเภอ ออกจากจังหวัดมหาสารคาม และยกฐานะอำเภอกาฬสินธุ์ขึ้นเป็นจังหวัดกาฬสินธุ์มาตั้งแต่บัดนั้น
ต่อมาใน พ.ศ. 2496 ศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม สร้างเสร็จสิ้น และใช้งานเรื่อยมาจนจวบปัจจุบัน โดยจังหวัดมหาสารคาม ในปีเดียวกันนี้ มีเขตการปกครอง ทั้งหมด 10 แห่ง โดย แบ่งเป็น อำเภอ 9 แห่ง และกิ่งอำเภอ 1 แห่ง ได้แก่ 1.อำเภอเมืองมหาสารคาม 2.อำเภอบรบือ 3.อำเภอกันทรวิชัย 4.อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย 5.อำเภอนาดูน 6.อำเภอวาปีปทุม 7.อำเภอนาเชือก 8.อำเภอเชียงยืน 9.อำเภอโกสุมพิสัย 10.กิ่งอำเภอแกดำ (ต่อมาได้ยกฐานะเป็นอำเภอแกดำ)
เมืองมหาสารคามได้สร้างวัดดอนเมือง ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น วัดข้าวฮ้าว (วัดธัญญาวาส) และได้ย้ายกองบัญชาการไปอยู่ริมหนองกระทุ่มด้านเหนือของวัดโพธิ์ศรีปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2456 หม่อมเจ้านพมาศ นวรัตน์ เป็นปลัดมณฑลประจำจังหวัด โดยความเห็นชอบของพระมหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิริยะศิริ) ได้ย้ายศาลากลางไปอยู่ที่ตั้งศาลากลางหลังเดิม (ที่ว่าการอำเภอเมืองมหาสารคามปัจจุบัน) และในปี พ.ศ. 2542 ได้ย้ายศาลากลางไปอยู่ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน มีผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมือง หรือผู้ว่าราชการจังหวัด รวม 46 คน

ความเปลี่ยนแปลง
สรุปความเปลี่ยนแปลงเด่นๆของเมืองมหาสารคาม ระหว่างปี พ.ศ. 2408-2500 นับจากวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2408 ถึงปี พ.ศ. 2500 เมืองมหาสารคามมีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายประการคือ
พ.ศ. 2408 ขึ้นกับเมืองร้อยเอ็ด
พ.ศ. 2412 ขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร
พ.ศ. 2419 ยกฐานะเมืองมหาสารคามเป็นเมืองประเทศราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม เลื่อนฐานะท้าวมหาชัย (กวด) เป็น เจ้าผู้ครองเมืองประเทศราช ให้มีพระราชทินนามว่า พระเจริญราชเดช วีรเชษฐ์มหาขัติยพงศ์ รวิวงศ์สุรชาติ ประเทศราชธำรงรักษ์ ศักดิ์กิติยศเกรียงไกร ศรีพิชัยเทพวรฤทธิ์ พิศอนุพงศ์ปรีชา สิงหบุตรสุวัฒนา นคราภิบาล ชาญพิชัยสงคราม
พ.ศ. 2422 พระเจริญราชเดช (ฮึง) เป็นเจ้าเมืองมหาสารคาม คนที่ 2
พ.ศ. 2425 ตั้งบ้านนาเลาขึ้นเป็นเมืองวาปีปทุม และตั้งบริเวณบึงกุย เป็นเมืองโกสุมพิสัย ขึ้นกับเมืองมหาสารคาม
พ.ศ. 2443 ส่วนกลางให้ยุบตำแหน่งเจ้าเมืองเป็นผู้ว่าราชการเมือง(ลดทอนอำนาจของเจ้านายท้องถิ่น) ในปีเดียวกันนั้นได้มีการแบ่งเมืองมหาสารคามออกเป็น 2 อำเภอ คือ อำเภออุทัยสารคาม และอำเภอประจิมสารคาม
พ.ศ. 2446 พระพิทักษ์นรากร(อุ่น) ได้เป็นผู้ว่าราชการเมือง ต่อมาภายหลัง ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองมหาสารคามคนที่ 4 มีทินนามว่า “พระเจริญราชเดช(อุ่น)”
พ.ศ. 2455 ยุบตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด โดยมี หม่อมเจ้านพมาศ นวรัตน์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามคนแรก
พ.ศ. 2475 เปลี่ยนระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และในปีเดียวกันนั้น ให้ยุบจังหวัดอุทัยกาฬสินธุ์ให้ลงเป็นอำเภอหลุบขึ้นกับจังหวัดมหาสารคาม และโอนทุกอำเภอที่เคยขึ้นกับจังหวัดอุทัยกาฬสินธ์ให้โอนมาเป็นอำเภอขึ้นตรงต่อจังหวัดมหาสารคาม
พ.ศ. 2477 มีการขุดคลองสมถวิล เพื่อสร้างเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญ ของชาวชุมชนเมืองมหาสารคาม
พ.ศ. 2478 จังหวัดมหาสารคามมีการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคามขึ้น
พ.ศ. 2490 แยกอำเภอกาฬสินธุ์(หลุบ) และบางอำเภอ ออกจากจังหวัดมหาสารคาม และยกฐานะอำเภอกาฬสินธุ์ขึ้นเป็นจังหวัดกาฬสินธุ์มาตั้งแต่บัดนั้น
พ.ศ. 2498 จังหวัดมหาสารคามมีการจัดตั้งเทศบาลเมืองมหาสารคาม
พ.ศ. 2500 มีการสร้างหอนาฬิกาขึ้นเพื่อเป็นแลนด์มาร์กใจกลางตัวเมืองของจังหวัด

ที่ตั้งและอาณาเขต
จังหวัดมหาสารคามตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะทางห่างจากกรุงเทพมหานคร 475 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง ดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดกาฬสินธุ์
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดบุรีรัมย์
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดร้อยเอ็ด
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดบุรีรัมย์
จังหวัดมหาสารคามมีฉายาเป็น “ดินแดนแห่งสะดืออีสาน” เนื่องจากตั้งอยู่ที่จุดกึ่งกลางของภาคอีสาน ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านบึงกุย หมู่ 13 ตำบลหัวขวาง อำเภอโกสุมพิสัย)

พื้นที่
• ทั้งหมด 5,291.683 ตร.กม. (2,043.130 ตร.ไมล์)
อันดับพื้นที่ อันดับที่ 41

ประชากร
• ทั้งหมด 948,310 คน
• อันดับ อันดับที่ 23
• ความหนาแน่น 179.21 คน/ตร.กม. (464.2 คน/ตร.ไมล์)
• อันดับความหนาแน่น อันดับที่ 16

สัญลักษณ์ประจำจังหวัด
ตราประจำจังหวัด

ธงประจำจังหวัด

• ต้นไม้ : พฤกษ์ (มะรุมป่า)

• ดอกไม้ : ลั่นทมขาว (จำปาขาว)

• สัตว์น้ำ : ปูทูลกระหม่อม

คำขวัญ : พุทธมณฑลอีสาน ถิ่นฐานอารยธรรม ผ้าไหมล้ำเลอค่า ตักสิลานคร

ภูมิประเทศ
โดยทั่วไป จังหวัดมหาสารคามมีพื้นที่ค่อนข้างราบเรียบถึงลูกคลื่นลอนลาด สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 130 – 230 เมตร ทิศตะวันตกและทิศเหนือเป็นที่สูงในเขตอำเภอโกสุมพิสัย อำเภอเชียงยืน และอำเภอกันทรวิชัย ครอบคลุมพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของจังหวัด และค่อย ๆ เทลาดมาทางทิศตะวันออกและทิศใต้

สภาพพื้นที่แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ
พื้นที่ราบเรียบถึงค่อนข้างราบเรียบ — ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มริมน้ำ เช่น ที่ราบลุ่มริมแม่น้ำชี ในบริเวณอำเภอเมืองมหาสารคาม อำเภอโกสุมพิสัย และทางตอนใต้ของจังหวัดแถบชายทุ่งกุลาร้องไห้
พื้นที่ค่อนข้างราบเรียบสลับกับลูกคลื่นลอนลาด — ตอนเหนือของอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย เป็นแนวยาวไปทางตะวันออก ถึงอำเภอเมืองมหาสารคาม]
พื้นที่ลูกคลื่นลอนลาดสลับกับพื้นที่ลูกคลื่นลอนชัน — ตอนเหนือและตะวันตกของจังหวัด บริเวณนี้มีเนื้อที่ประมาณครึ่งหนึ่งของจังหวัด
ภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิอากาศในเขตจังหวัดมหาสารคาม เป็นแบบมรสุมเมืองร้อน มีฝนตกสลับกับอากาศแห้ง ในปี พ.ศ. 2555 มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายเดือน 118.1 มิลลิเมตร และปริมาณน้ำฝนมากที่สุดที่ 414.9 มิลลิเมตร ในเดือนพฤษภาคม อุณหภูมิเฉลี่ยในเดือนมกราคม-กรกฎาคม ที่ 27.91 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 39.3 องศาเซลเซียส ในเดือนเมษายน และอุณหภูมิต่ำสุด 15.0 องศาเซลเซียส ในเดือนมกราคม ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ย ประมาณ 73.55 % (เดือนมกราคม – กรกฎาคม)

การปกครองส่วนท้องถิ่น
จังหวัดมหาสารคามมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด 143 แห่ง เป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่าง ประกอบด้วย เทศบาล 47 แห่ง เป็นเทศบาลเมือง 1 แห่ง คือเทศบาลเมืองมหาสารคาม และเทศบาลตำบล 18 แห่ง ที่เหลือเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวน 123 แห่ง โดยเทศบาลทั้งหมดแบ่งตามอำเภอในจังหวัดมหาสารคาม มีดังนี้

อำเภอเมืองมหาสารคาม
เทศบาลเมืองมหาสารคาม
เทศบาลตำบลแวงน่าง

อำเภอโกสุมพิสัย
เทศบาลตำบลโกสุมพิสัย

อำเภอกันทรวิชัย
เทศบาลตำบลโคกพระ
เทศบาลตำบลขามเรียง
เทศบาลตำบลท่าขอนยาง

อำเภอเชียงยืน
เทศบาลตำบลเชียงยืน
เทศบาลตำบลโพนทอง

อำเภอชื่นชม
เทศบาลตำบลหนองกุง
เทศบาลตำบลกุดปลาดุก

อำเภอแกดำ
เทศบาลตำบลแกดำ
เทศบาลตำบลมิตรภาพ

อำเภอนาดูน
เทศบาลตำบลนาดูน
เทศบาลตำบลหนองไผ่
เทศบาลตำบลหัวดง

อำเภอบรบือ
เทศบาลตำบลบรบือ

อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย
เทศบาลตำบลพยัคฆภูมิพิสัย

อำเภอวาปีปทุม
เทศบาลตำบลวาปีปทุม

อำเภอนาเชือก
เทศบาลตำบลนาเชือก

การคมนาคม
ทางบก
รถยนต์ส่วนตัว
เส้นทางที่สะดวกและสั้นที่สุด คือใช้เส้นทางถนนพหลโยธินเข้าสู่จังหวัดสระบุรี และเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนมิตรภาพ ผ่านจังหวัดนครราชสีมา เข้าสู่จังหวัดขอนแก่น แล้วเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนแจ้งสนิท จนกระทั่งเข้าสู่จังหวัดมหาสารคาม

รถโดยสารประจำทาง
สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดมหาสารคาม ตั้งอยู่บริเวณถนนเลียบคลองสมถวิล ผู้ให้บริการรถโดยสารจากกรุงเทพฯ อาทิ บริษัท ขนส่ง จำกัด, นครชัยแอร์, เชิดชัยทัวร์, รุ่งประเสริฐทัวร์ และชาญทัวร์ นอกจากนี้ยังมีผู้ให้บริการรถโดยสารไปยังจังหวัดข้างเคียง อาทิ สหพันธ์ร้อยเอ็ดทัวร์, แสงประทีปทัวร์ และอื่น ๆ

จากอำเภอเมืองมหาสารคาม มีรถโดยสารประจำทางให้บริการไปยังอำเภอต่าง ๆ ได้แก่ พยัคฆภูมิพิสัย วาปีปทุม นาดูน นาเชือก บรบือ กุดรัง และเชียงยืน

จังหวัดมหาสารคามมีสถานีขนส่งผู้โดยสารหลายแห่ง ได้แก่ที่เทศบาลเมืองมหาสารคาม, บรบือ, พยัคฆภูมิพิสัย, วาปีปทุม และโกสุมพิสัย

ทางรถไฟ
ในปัจจุบัน จังหวัดมหาสารคามยังไม่มีทางรถไฟตัดผ่าน สถานีรถไฟที่อยู่ใกล้ที่สุด ได้แก่ สถานีรถไฟขอนแก่น (71 กิโลเมตร) และสถานีรถไฟบ้านไผ่ (69 กิโลเมตร) ซึ่งทั้งสองสถานีนั้นอยู่ในจังหวัดขอนแก่น

ในอนาคต จะมีโครงการรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่-นครพนม ซึ่งจะผ่านหลายจังหวัดในอีสานตอนกลาง รวมถึงมหาสารคามด้วย

ทางอากาศ
จังหวัดมหาสารคามไม่มีท่าอากาศยาน จึงต้องใช้บริการท่าอากาศยานของจังหวัดข้างเคียง ได้แก่ ท่าอากาศยานขอนแก่น (82 กิโลเมตร), ท่าอากาศยานร้อยเอ็ด (59 กิโลเมตร) และท่าอากาศยานบุรีรัมย์ (121 กิโลเมตร)

สถานที่ท่องเที่ยว

อำเภอเมืองมหาสารคาม
-ปรางค์กู่บ้านเขวา
-อ่างเก็บน้ำหนองแวง
-หมู่บ้านหัตถกรรมบ้านหนองเขื่อนช้าง
-แก่งเลิงจาน
-วัดมหาชัย (พระอารามหลวง)
-พิพิธภัณฑ์เมืองมหาสารคาม เทศบาลเมืองมหาสารคาม
-ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมอีสาน
-สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน
-พระพุทธกันทรวิชัยอภิสมัยธรรมนายก
-หอเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
-หมู่บ้านปั้นหม้อ
-อุทยานมัจฉาโขงกุดหวาย
-วัดป่าวังน้ำเย็น (พระธาตุศรีสารคาม)

สถานที่สำคัญอื่น
เขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม
วัดอุทัยทิศ
กุดนางใย
เสาหงส์
โฮงเจ้าเมืองคนที่ 1 ที่ตั้งเมืองและศูนย์ราชการ
คลองสมถวิล
วัดนาควิชัย
วัดอภิสิทธิ์
เดิ่นบ้านใหญ่
ตึกดินอาคารพาณิชย์แห่งแรก
ตลาดสี่กั๊ก
โฮงเจ้าเมืองคนที่ 2
โฮงเจ้าเมืองคนที่ 3
ตลาดเจริญ
วัดโพธิ์ศรี
วัดมหาชัย (พระอารามหลวง)
ตลาดสดเมืองมหาสารคาม
หอนาฬิกา
โรงเรียนสารคามพิทยาคม
โรงเรียนเมืองมหาสารคาม(โรงเรียนมหาวิชานุกูล/โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยมหาสารคาม)าง
ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง
วัดธัญญาวาส
แก่งเลิงจาน
อนุเสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญ

อำเภอกันทรวิชัย
พระพุทธรูปยืนมงคล
พระพุทธมิ่งเมือง
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดพุทธมงคล
หลวงปู่ชินวรณ์
ขุนตาสำราญ
ยาตาพิลือ

อำเภอบรบือ
ปรางค์กู่บัวมาศ
หนองบ่อ

อำเภอแกดำ
อ่างเก็บน้ำห้วยแอ่ง

อำเภอโกสุมพิสัย
บึงบอน
วนอุทยานโกสัมพี
บึงกุย

อำเภอวาปีปทุม
กู่บ้านแดง
งานกลองยาว

อำเภอนาเชือก
อ่างเก็บน้ำห้วยค้อ
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดูนลำพัน

อำเภอนาดูน
พระธาตุนาดูน
พุทธมณฑลอีสาน
พิพิธภัณฑ์นครจัมปาศรี
พิพิธภัณฑ์บ้านอีสาน
สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช
บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์
กู่สันตรัตน์
กู่น้อย
ศาลานางขาว
ฮูปแต้มสิมวัดโพธาราม

อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย
ศูนย์ศิลปาชีพดอนลี่

แผนที่