กาฬสินธุ์ เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางหรือตอนบนของประเทศไทย อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 510 กิโลเมตร เป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน จากหลักฐานทางโบราณคดีบ่งบอกว่าเคยเป็นที่อยู่อาศัยของเผ่าละว้า ซึ่งมีความเจริญทางด้านอารยธรรมประมาณ 1,600 ปี
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เริ่มตั้งเป็นเมืองในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2336 โดยท้าวโสมพะมิตรได้อพยพหลบภัยมาจากดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (เมืองศรีสัตตนาคนหุตล้านช้างร่มขาวเวียงจันทน์) พร้อมไพร่พล และมาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำปาว เรียกว่า “บ้านแก่งสำโรง” แล้วได้นำเครื่องบรรณาการเข้าถวายสวามิภักดิ์ต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้ายกฐานะบ้านแก่งสำโรงขึ้นเป็นเมือง และพระราชทานนามว่า “เมืองกาฬสินธุ์” ซึ่งเป็นเมืองที่สำคัญทางประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยโบราณกาล กาฬ แปลว่า “ดำ” สินธุ์ แปลว่า “น้ำ” กาฬสินธุ์ จึงแปลว่า “น้ำดำ” (น้ำดำในที่นี้หมายถึง น้ำที่ใสสะอาดจนมองเห็นดินสีดำ ซึ่งดินดำเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด) ทั้งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ท้าวโสมพะมิตรเป็นพระยาชัยสุนทร (โสมพะมิตร) ครองเมืองกาฬสินธุ์เป็นคนแรก
กาฬสินธุ์มีแหล่งซากไดโนเสาร์และซากดึกดำบรรพ์อื่น ๆ หลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอำเภอสหัสขันธ์ อีกทั้งยังมีชื่อเสียงด้านโปงลางและผ้าไหมแพรวา นอกจากนี้ยังมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นลาว, เขมร, จีน, เวียดนาม, ภูไท, กะเลิง, ไทข่า, ไทดำ และญ้อ เป็นต้น
ประวัติ
สมัยก่อนประวัติศาสตร์-ยุคเหล็กตอนปลาย (พุทธศตวรรษที่ 3-7) พบร่องรอยการอยู่อาศัยในหลุมขุดค้นบริเวณโนนเมืองเก่า คือ ภาชนะดินเผาลายเขียนสีแดงบนพื้นครีม ซึ่งเป็นภาชนะที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายในบริเวณแอ่งสกลนครและแอ่งโคราช กำหนดอายุอยู่ในราว 2,200 – 1,800 ปีมาแล้ว และยังพบภาชนะที่ตกแต่งผิวด้วยการทาน้ำโคลนสีแดงด้วย มีการปลงศพด้วยการฝังยาว โดยวางศีรษะให้หันไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือทั้งหมด แต่มีทั้งแบบนอนหงายและนอนตะแคง ไม่พบการอุทิศสิ่งของให้ศพ
นอกจากนี้ยังพบร่องรอยของกิจกรรมการถลุงเหล็กด้วยเทคนิคโบราณทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของโนนเมืองเก่า และชุมชนในชั้นนี้ยังรู้จักการผลิตเครื่องประดับสำริดประเภทกำไล แหวน ต่างหู ซึ่งจากหลักฐานที่พบ คือ เบ้าดินที่มีคราบโลหะติดอยู่ และอุปกรณ์การหล่อในรูปของแม่พิมพ์ดินเผา ทำให้ทราบว่าเป็นการผลิตสำริดด้วยเทคนิค กระบวนการผลิตขั้นที่ 2 (secondary metallurgical operation) ไม่มีการถลุงเพื่อสกัดโลหะออกจากแร่ดิบ เพียงแต่นำเอาโลหะที่ผ่านการถลุงแล้วมาหลอมแล้วหล่อให้ได้รูปทรงตามต้องการด้วยวิธี lost wax process คือ ใช้ขี้ผึ้งทำแบบขึ้นมาก่อนแล้วเอาดินพอกจากนั้นให้ความร้อนเพื่อให้ขี้ผึ้งละลายและไหลออก จากนั้นจึงเอาโลหะหลอมละลายในเบ้าดินเผาเทลงแทนที่ เมื่อแข็งตัวแล้วจึงทุบแม่พิมพ์ออก กระบวนการผลิตแบบนี้พบในแหล่งโบราณคดียุคโลหะในแอ่งสกลนครและแอ่งโคราชทั่วไป เช่น บ้านเชียง บ้านนาดี เป็นต้น
สมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น (พุทธศตวรรษที่ 7-12) ระยะนี้รู้จักการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้จากเหล็ก ผลิตเครื่องประดับสำริดตลอดจนผลิตภาชนะดินเผารูปแบบต่างๆ โดยการขึ้นรูปด้วยแป้นหมุนมีการเผาทั้งแบบกลางแจ้งและเผาในเตาดินที่ควบคุมอุณหภูมิได้ แต่การเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดในช่วงนี้คือประเพณีการปลงศพซึ่งเปลี่ยนจากการฝังยาวมาเป็นการฝังโดยบรรจุกระดูกทั้งโครงหรือโครงกระดูกบางส่วนโดยไม่ผ่านการเผาลงในภาชนะดินเผา การปลงศพแบบนี้ถือว่าเป็นประเพณีที่แพร่หลายอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำโขง ชี มูล ในช่วงหัวเลี้ยวประวัติศาสตร์
สมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) เป็นระยะที่มีการอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดเมื่อเทียบกับระยะอื่นๆ มีการประมาณกันไว้ว่าเมืองฟ้าแดดสงยางในยุคนี้มีประชากรราว 3,000 คนเลยทีเดียว โดยพบเครื่องมือเหล็ก เครื่องประดับสำริดประเภทแหวน กำไล ลูกกระพรวน นอกจากนั้นยังพบลูกปัดแก้วสีเขียวอมฟ้า รวมทั้งลูกปัดหินอะเกต และหินคาร์เนเลียน ส่วนภาชนะดินเผาส่วนใหญ่จะเป็นหม้อมีสัน กาน้ำ (หม้อมีพวย) ตะคัน ตลอดจนได้พบแวดินเผา และเบี้ยดินเผาแบบต่างๆ อาจกล่าวได้ว่าโบราณวัตถุที่พบในชั้นนี้เหมือนกับโบราณวัตถุในวัฒนธรรมทวารวดีที่พบในแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดีในลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ท่าจีน ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-16
ในสมัยนี้ชุมชนเริ่มได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาเข้ามาเช่นเดียวกับเมืองโบราณอื่นๆ ในสมัยเดียวกัน ซึ่งแพร่เข้ามาจากอินเดียในช่วงพุทธศตวรรษที่ 9-14 (สมัยคุปตะและปาละ) ดังปรากฏศาสนสถานที่มีลักษณะร่วมกันคือ เจดีย์ วิหารและอุโบสถ ซึ่งส่วนใหญ่จะก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ (มีความยาว 2 เท่าของความกว้าง) และไม่สอปูน แผนผังเจดีย์ที่นิยมในสมัยทวารวดีทั้งภาคกลางและอีสาน คือมีแปลนเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีบันไดทางขึ้นด้านเดียวหรือ 4 ด้าน มีการตกแต่งผนังอิฐด้วยการฉาบปูนแล้วประดับด้วยประติมากรรมปูนปั้นและดินเผา นอกจากนี้วัฒนธรรมการสร้างปริมากรรมรูปธรรมจักรลอยตัวยังพบที่เมืองฟ้าแดดสงยางแห่งนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ประติมากรรมที่ถือว่าโดดเด่นที่สุดที่พบในชุมชนสมัยทวารวดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งไม่ใช่พระพุทธรูปหรือธรรมจักรที่นิยมในภาคกลาง คือ ใบเสมา ทั้งแบบที่มีภาพเล่าเรื่องและแบบที่ไม่มี ใบเสามาเหล่านี้อาจใช้ในการปักเขตแดนศาสนสถาน ซึ่งพบว่ามีจำนวนมากกว่า 14 แห่ง ( จำนวนที่ขุดแต่งครั้งแรกในปี 2510-2511)
ประติมากรรมในทางพระพุทธศาสนาที่น่าสนใจอีกประเภทคือ พระพิมพ์ดินเผา ซึ่งขุดพบที่เมืองโบราณแห่งนี้จำนวน 7 พิมพ์ด้วยกัน พิมพ์ที่พบมากที่สุด (83 องค์) ซึ่งอาจจะเป็นพิมพ์พื้นเมือง และแพร่หลายในเขตลุ่มน้ำชี เพราะพบที่เมืองโบราณคันธาระ อำเภอกันทรวิชัยด้วย คือ ปรางค์สมาธิบนฐานดอกบัว ส่วนพิมพ์ที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์พิเศษของพระพิมพ์ลุ่มน้ำชี คือ ปางธรรมจักร ซึ่งพบเฉพาะที่เมืองโบราณฟ้าแดดสงยางและเมืองโบราณคันธาระเท่านั้น ไม่ปรากฏในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา
นอกจากนี้ยังพบหลักฐานการจารึกบนพระพิมพ์ดินเผาเมืองฟ้าแดดสงยางด้วย ซึ่งอักษรที่ใช้จารึกเป็นอักษรสมัยหลังปัลลวะ (พุทธศตวรรษที่ 14) ภาษามอญโบราณ ด้านบนมีเนื้อหากล่าวถึง พระเจ้าอาทิตย์ ส่วนด้านหลัง เป็นข้อความสั้นๆ กล่าวแต่เพียงสังเขปว่า “พระพิมพ์องค์นี้ ปิณญะอุปัชฌายาจารย์ ผู้มีคุณเลื่องลือไกล” ซึ่งก็อาจแปลความได้ว่า พระพิมพ์องค์นี้ ท่านปิณญะอุปัชฌาจารย์ เกจิผู้มีชื่อเสียงได้สร้างขึ้นไว้สำหรับให้สาธุชนได้รับไปบูชา[3]
สมัยลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ 17-18) ตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 17-18 เป็นต้นไปดูเหมือนว่าชุมชนโบราณแห่งนี้จะเริ่มเปลี่ยนค่านิยมเกี่ยวกับการปลงศพโดยนิยมการเผาแล้วเก็บอัฐิใส่โกศดินเผาไปฝังไว้ใต้ศาสนสถาน (บริเวณโนนฟ้าแดด) ดังที่พบผอบดินเผาเคลือบสีน้ำตาลอมเขียวที่ภายในบรรจุอัฐิ
สมัยอยุธยา (พุทธศตวรรษที่ 19-23) ช่วงนี้เองที่ชุมชนแห่งนี้มีการติดต่อกับชุมชนในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งภาคเหนือของไทยด้วย เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซุ่ย หยวน หมิง ที่เป็นสินค้าสำคัญในบริเวณลุ่มแม่น้ำมูล-ชี และลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็ปรากฏในเมืองโบราณแห่งนี้ด้วย สมัยนี้ยังพบว่ามีการอยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น มีการสร้างศาสนสถานแบบอยุธยาซ้อนทับฐานศาสนสถานแบบทวารวดีเกือบทุกแห่ง ที่เห็นร่องรอยเด่นชัดที่สุดในปัจจุบันคือ ฐานล่างของพระธาตุยาคู ซึ่งเป็นศิลปะสมัยทวารวดีที่มีเจดีย์เป็นแบบศิลปะสมัยอยุธยาสร้างซ้อนทับและมีการบูรณปฏิสังขรณ์สืบต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
ตามบันทึกประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ในปี พ.ศ. 2336 บ้านแก่งสำโรงได้รับการสถาปนาเป็นเมืองกาฬสินธุ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยแยกเอาดินแดนเดิมที่เคยขึ้นต่อเมืองทุ่งศรีภูมิ(อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2256-พ.ศ. 2318 ซึ่งต่อมาเป็นเขตแดนของเมืองร้อยเอ็ด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2318-พ.ศ. 2336 เป็นต้นมา ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดกาฬสินธุ์ หลังจากเจ้าโสมพะมิตรได้รับการช่วยเหลือจาก พระขัติยะวงษา (สีลัง ธนสีลังกูร) เจ้าเมืองร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นพระญาติอันมีเชื้อสายเจ้านายจากราชวงศ์ล้านช้าง บุตรหลานของเจ้าแก้วมงคล แห่งเมืองทุ่งศรีภูมิ ให้นำพาเข้าเฝ้าฯ ถวายสวามิภักดิ์ ต่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือ รัชกาลที่1 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณแต่งตั้งขึ้นเป็น “พระยาไชยสุนทร” เจ้าเมืองท่านแรกโดยให้รั้งเมืองสืบไป
เมื่อ พ.ศ. 2437 เมื่อพระยาชัยสุนทร (ท้าวเก) เป็นเจ้าเมือง มีการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองแบบให้เจ้าเมืองปกครองขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร มาเป็นรูปการปกครองแบบเทศาภิบาล มีมณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบล และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เมืองร้อยเอ็ดเป็นจังหวัดร้อยเอ็ด บรรดาหัวเมืองต่าง ๆ ให้ยุบเป็นอำเภอ คือ เมืองกาฬสินธุ์ เป็นอำเภออุทัยกาฬสินธุ์ เมืองกาฬสินธุ์ จึงกลายเป็น “อำเภออุทัยกาฬสินธุ์” ขึ้นกับจังหวัดร้อยเอ็ด
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2456 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะจังหวัดร้อยเอ็ดขึ้นเป็นมณฑล ยกฐานะอำเภออุทัยกาฬสินธุ์เป็นจังหวัดกาฬสินธุ์ ขึ้นต่อมณฑลร้อยเอ็ด และมีอำนาจปกครองอำเภออุทัยกาฬสินธุ์ อำเภอสหัสขันธ์ อำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอกมลาไสย อำเภอยางตลาด โดยให้พระภิรมย์บุรีรักษ์เป็นปลัดมณฑลประจำจังหวัดกาฬสินธุ์
ต่อมาเกิดข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ การเงินฝืดเคือง จำเป็นต้องยุบจังหวัดต่าง ๆ ลงเพื่อให้สมดุลกับรายได้ของประเทศ จังหวัดกาฬสินธุ์จึงถูกยุบเป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดมหาสารคาม เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2474 และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอรรถเปศลสรวดี เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดมหาสารคาม (แทนพระยามหาสารคามคณาภิบาลซึ่งออกรับบำนาญ) ครั้นเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 จึงได้ยกเลิกมณฑล
วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2490 ได้ยกฐานะเป็น “จังหวัดกาฬสินธุ์” จัดตั้งขึ้นโดย พระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดกาฬสินธุ์ พ.ศ. 2490 อันมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2490 จนถึงปัจจุบัน
ภูมิศาสตร์
อาณาเขตติดต่อ : จังหวัดกาฬสินธุ์มีอาณาเขตติดกับจังหวัดอื่น ๆ ดังนี้
-ทิศเหนือ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดสกลนคร
-ทิศตะวันออก มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดมุกดาหาร
-ทิศใต้ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดมหาสารคาม
-ทิศตะวันตก มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดมหาสารคามและจังหวัดขอนแก่น
อุทยาน : จังหวัดกาฬสินธุ์มีพื้นที่ป่าทั้งหมดประมาณ 1,150,000 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 27 ของพื้นที่ในจังหวัด
-อุทยานแห่งชาติภูพาน ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของป่าสงวน ฯ ป่าแก้งกะอาม และบางส่วนของป่าดงห้วยผา อยู่ในเขตอำเภอสมเด็จ และอำเภอห้วยผึ้ง มีพื้นที่ในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ ประมาณ 57,500 ไร่ ประกาศเป็นอุทยาน ฯ เมื่อปี พ.ศ. 2518 และปี พ.ศ. 2525 (สกลนคร-กาฬสินธุ์)
-อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก ครอบคลุมพื้นที่ อ.คำม่วง อ.สมเด็จ บางส่วน (สกลนคร-อุดรธานี-กาฬสินธุ์)
-วนอุทยานภูพระ อยู่ในตำบลนาตาล อำเภอท่าคันโท มีพื้นที่ประมาณ 6,000 ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวน ฯ ป่าดงมูล
-วนอุทยานภูแฝก อยู่ที่บ้านน้ำคำ ตำบลภูแล่นช้าง อำเภอนาคู มีพื้นที่ประมาณ 4,000 ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวน ฯ ป่าดงห้วยผา
-วนอุทยานภูผาวัว อยู่ในตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ มีพื้นที่ประมาณ 4,000 ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวน ฯ ป่าดงด่านแย้
-เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน อยู่ในเขตอำเภอกุฉินารายณ์ และอำเภอเขาวง มีพื้นที่ประมาณ 28,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวน ฯ ป่าดงด่านแย้ และป่าตอห่ม
-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าลำปาว อยู่ในเขตอำเภอสหัสขันธ์ อำเภอหนองกุงศรี อำเภอท่าคันโท และอำเภอเมือง มีพื้นที่ประมาณ 200,000 ไร่เศษ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่น้ำของเขื่อนลำปาว
-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าผาน้ำทิพย์ อยู่ในเขตอำเภอกุฉินารายณ์ มีพื้นที่ประมาณ 3,000 ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวน ฯ ป่าดงบังอี แปลงที่ 2
-ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงระแนง อยู่ในเขตอำเภอยางตลาด และอำเภอห้วยเม็ก มีพื้นที่ประมาณ 69,500 ไร่ ประกาศเป็นป่าสงวน เมื่อปี พ.ศ. 2499
-ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงแม่แฝด อยู่ในเขตอำเภอนามน อำเภอห้วยผึ้ง อำเภอกุฉินารายณ์และอำเภอเมืองมีพื้นที่ประมาณ 119,500 ไร่ ประกาศเป็นป่าสงวน เมื่อปี พ.ศ. 2504
-ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงบังอี่แปลงที่ 1 อยู่ในเขตอำเภอกุฉินารายณ์ มีพื้นที่ประมาณ 12,000 ไร่ ประกาศเป็นป่าสงวน เมื่อปี พ.ศ. 2501
-ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงหมู อยู่ในเขตอำเภอเขาวง และอำเภอนาคู มีพื้นที่ประมาณ 88,000 ไร่ ประกาศเป็นป่าสงวน ฯ เมื่อปี พ.ศ. 2508
-ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงห้วยผา อยู่ในเขตอำเภอห้วยผึ้ง และอำเภอนาคู มีพื้นที่ประมาณ 110,500 ไร่ ประกาศเป็นป่าสงวนเมื่อปี พ.ศ. 2508
-ป่าสงวนแห่งชาติ ป่านาจาร – ดงขวาง อยู่ในเขตอำเภอสมเด็จ อำเภอสหัสขันธ์ และอำเภอเมืองมีพื้นที่ประมาณ 37,500 ไร่ ประกาศเป็นป่าสงวน เมื่อปี พ.ศ. 2506
-ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกกลางหมื่น อยู่ในเขตอำเภอเมือง มีพื้นที่ประมาณ 15,000 ไร่ ประกาศเป็นป่าสงวน ฯ เมื่อปี พ.ศ. 2509
-ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงนามน อยู่ในเขตอำเภอกมลาไสย อำเภอร่องคำ และอำเภอเมืองมีพื้นที่ประมาณ 12,500 ไร่ ประกาศเป็นป่าสงวน ฯ เมื่อปี พ.ศ. 2509
-ป่าสงวนแห่งชาติ ป่ากังกะอวม อยู่ในเขตอำเภอสมเด็จ มีพื้นที่ประมาณ 88,500 ไร่ ประกาศเป็นป่าสงวน ฯ เมื่อปี พ.ศ. 2509
-ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงด่านแย้ อยู่ในเขตอำเภอคำม่วง กิ่งอำเภอสามชัย และอำเภอเขาวง มีพื้นที่ประมาณ 76,500 ไร่ ประกาศเป็นป่าสงวน ฯ เมื่อปี พ.ศ. 2510
-ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าภูพาน อยู่ในเขตอำเภอคำม่วง กิ่งอำเภอสามชัย และอำเภอสมเด็จ มีพื้นที่ประมาณ 215,000 ไร่ ประกาศเป็นป่าสงวน ฯ เมื่อปี พ.ศ. 2511
-ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงมูล อยู่ในเขตอำเภอห้วยเม็ก อำเภอหนองกุงศรี และอำเภอท่าคันโท มีพื้นที่ประมาณ 259,000 ไร่ ประกาศเป็นป่าสงวน ฯ เมื่อปี พ.ศ. 2518
-ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงบังอี่ แปลงที่ 2 อยู่ในเขตอำเภอกุฉินารายณ์ มีพื้นที่ประมาณ 3,000 ไร่ ประกาศเป็นป่าสงวน ฯ เมื่อปี พ.ศ. 2517
-สถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่า มีอยู่แห่งเดียวคือ สถานี ฯ ลำปาว มีพื้นที่ประมาณ 1,500 ไร่ อยู่ในเขตอำเภอเมืองกาฬสินธุ์
-ป่าชุมชน คือ กิจการของป่าที่ประชาชนมีส่วนร่วม เป็นแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ อีกรูปแบบหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2541 มีป่าชุมชนอยู่ 15 หมู่บ้าน เช่น ป่าชุมชนบ้านหนองผ้าอ้อม และป่าชุมชนบ้านสูงเนิน เป็นต้น
สัญลักษณ์จังหวัด
ตราประจำจังหวัด
ธงประจำจังหวัด
ดอกไม้ประจำจังหวัด: ดอกพะยอม (Shorea roxburghii)
ต้นไม้ประจำจังหวัด: มะหาด (Artocarpus lacucha)
เครื่องดนตรีประจำจังหวัด
สัตว์น้ำ : ปลาเกล็ดถี่
ของขึ้นชื่อประจำจังหวัด : ผ้าแพรวา
คำขวัญประจำจังหวัด: หลวงพ่อองค์ดำลือเลือง เมืองฟ้าแดดสงยาง โปงลางเลิศล้ำ วัฒนธรรมผู้ไทย ผ้าไหมแพรวา ผาเสวยภูพาน มหาธารลำปาว ไดโนเสาร์สัตว์โลกล้านปี
พื้นที่
• ทั้งหมด 6,946.746 ตร.กม. (2,682.154 ตร.ไมล์) อันดับพื้นที่ อันดับที่ 28
ประชากร
• ทั้งหมด 975,570 คน
• อันดับ อันดับที่ 22
• ความหนาแน่น 140.44 คน/ตร.กม. (363.7 คน/ตร.ไมล์)
• อันดับความหนาแน่น อันดับที่ 29
การปกครองส่วนท้องถิ่น : องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด 151 แห่ง คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง เทศบาลเมือง 2 แห่ง และเทศบาลตำบล 77 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 71 แห่ง มีรายชื่อดังนี้
อำเภอเมืองกาฬสินธุ์
เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์
เทศบาลตำบลกลางหมื่น
เทศบาลตำบลขมิ้น
เทศบาลตำบลเชียงเครือ
เทศบาลตำบลนาจารย์
เทศบาลตำบลบึงวิชัย
เทศบาลตำบลไผ่
เทศบาลตำบลโพนทอง
เทศบาลตำบลภูดิน
เทศบาลตำบลภูปอ
เทศบาลตำบลลำคลอง
เทศบาลตำบลลำพาน
เทศบาลตำบลหนองสอ
เทศบาลตำบลหลุบ
เทศบาลตำบลห้วยโพธิ์
เทศบาลตำบลเหนือ
อำเภอกุฉินารายณ์
เทศบาลเมืองกุฉินารายณ์
เทศบาลตำบลกุดหว้า
เทศบาลตำบลจุมจัง
เทศบาลตำบลนาขาม
เทศบาลตำบลเหล่าใหญ่
อำเภอกมลาไสย
เทศบาลตำบลกมลาไสย
เทศบาลตำบลดงลิง
เทศบาลตำบลธัญญา
เทศบาลตำบลหนองแปน
เทศบาลตำบลหลักเมือง
อำเภอเขาวง
เทศบาลตำบลกุดสิม
เทศบาลตำบลกุดสิมคุ้มใหม่
เทศบาลตำบลสงเปลือย
เทศบาลตำบลสระพังทอง
อำเภอคำม่วง
เทศบาลตำบลคำม่วง
เทศบาลตำบลนาทัน
เทศบาลตำบลโพน
อำเภอฆ้องชัย
เทศบาลตำบลฆ้องชัยพัฒนา
อำเภอดอนจาน
เทศบาลตำบลดอนจาน
เทศบาลตำบลม่วงนา
อำเภอท่าคันโท
เทศบาลตำบลท่าคันโท
เทศบาลตำบลนาตาล
เทศบาลตำบลดงสมบูรณ์
เทศบาลตำบลกุงเก่า
เทศบาลตำบลกุดจิก
อำเภอนาคู
เทศบาลตำบลนาคู
เทศบาลตำบลภูแล่นช้าง
อำเภอนามน
เทศบาลตำบลนามน
เทศบาลตำบลสงเปลือย
อำเภอยางตลาด
เทศบาลตำบลยางตลาด
เทศบาลตำบลเขาพระนอน
เทศบาลตำบลโคกศรี
เทศบาลตำบลโนนสูง
เทศบาลตำบลบัวบาน
เทศบาลตำบลหัวนาคำ
เทศบาลตำบลอิตื้อ
เทศบาลตำบลอุ่มเม่า
อำเภอร่องคำ
เทศบาลตำบลร่องคำ
อำเภอสมเด็จ
เทศบาลตำบลสมเด็จ
เทศบาลตำบลแซงบาดาล
เทศบาลตำบลผาเสวย
เทศบาลตำบลมหาไชย
เทศบาลตำบลลำห้วยหลัว
อำเภอสหัสขันธ์
เทศบาลตำบลนามะเขือ
เทศบาลตำบลนิคม
เทศบาลตำบลโนนน้ำเกลี้ยง
เทศบาลตำบลโนนบุรี
เทศบาลตำบลโนนศิลา
เทศบาลตำบลภูสิงห์
อำเภอหนองกุงศรี
เทศบาลตำบลหนองกุงศรี
เทศบาลตำบลคำก้าว
เทศบาลตำบลดงมูล
เทศบาลตำบลหนองบัว
เทศบาลตำบลหนองสรวง
เทศบาลตำบลหนองหิน
เทศบาลตำบลหนองใหญ่
อำเภอห้วยผึ้ง
เทศบาลตำบลห้วยผึ้ง
เทศบาลตำบลคำบง
เทศบาลตำบลหนองอีบุตร
อำเภอห้วยเม็ก
เทศบาลตำบลห้วยเม็ก
เทศบาลตำบลคำเหมือดแก้ว
เทศบาลตำบลคำใหญ่
เทศบาลตำบลท่าลาดดงยาง
เศรษฐกิจ : ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในจังหวัดกาฬสินธุ์ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย กุ้งก้ามกราม ยางพารา โรงงานผลิตแป้งมัน,แป้งข้าวโพด โรงงานน้ำตาล เป็นต้น
วัฒนธรรม
เทศกาลและงานประเพณี
-งานมหกรรมโปงลาง ผ้าไหมแพรวา และงานกาชาด ลานหน้าศาลากลางจังหวัด(หลังเก่า)
-งานมหกรรมวิจิตรแพรวา ราชินีแห่งไหม ลานหน้าศาลากลางจังหวัด(หลังเก่า)
-งานประเพณีสมมาน้ำคืนเพ็งเส็งประทีป(ลอยกระทง) สวนสาธารณะกุดน้ำกิน
-งานประเพณีบุนผะเหวด(บุญพระเวส)
-งานประเพณีบุญสรงน้ำ หรือตรุษสงกรานต์
-งานประเพณีออกพรรษา และตักบาตรเทโวโรหณะ วัดภูสิงห์ (อำเภอสหัสขันธ์)
-งานประเพณีแห่เทียนพรรษา
-งานประเพณีบรวงสรวงเจ้าปู่ (อำเภอหนองกุงศรี)
-งานประเพณีบุญบั้งไฟล้าน (อำเภอท่าคันโท)
-งานนมัสการพระธาตุพนมจำลอง (อำเภอห้วยเม็ก)
-งานประเพณีบุณคูณลาน (อำเภอยางตลาด)
-งานประเพณีบุญคูนลานสู่ขวัญข้าว(บุญเดือนยี่) (วัดเศวตวันวนาราม ต.เหนือ)
-งานนมัสการพระธาตุยาคู(งานแสดง แสง สี เสียง ทวารวดีมิ่งหล้าเมืองฟ้าแดดสงยาง) (อำเภอกมลาไสย)
-งานประเพณีบุญบั้งไฟ ตะไลล้าน (อำเภอกุฉินารายณ์)
-ประเพณีการแข่งขันเรือยาว (อำเภอกมลาไสย)
-งานมหกรรมเส็งกลองร่องคำ (อำเภอร่องคำ)
อาหารพื้นเมือง
-ตำเมี่ยงตะไคร้
-หมูทุบ
-หมูฝอย
-กุนเชียง
-เนื้อแดดเดียว
-ตำบักหุ่ง
-เมี่ยงนาคู
-ส้มหมู,ส้มเนื้อ
-ไส้กรอกปลากาฬสินธุ์
สถานที่ท่องเที่ยว
-อนุสาวรีย์พระยาชัยสุนทร ( เจ้าโสมพะมิตร ) (อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ )
-วัดกลาง (พระอารามหลวง ชนิดสามัญ) (อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ )
-วัดศรีบุญเรือง (อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ )
-วัดป่ามัชฌิมาวาส (ตำบลลำพาน อำเภอเมืองกาฬสินธุ์)
-เขื่อนลำปาว (อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ )
-สวนสะออน (อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ )
-หาดดอกเกด (อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ )
-พระพุทธสถานภูปอ (อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ )
-พิพิธภัณฑ์ของดีเมืองกาฬสินธุ์ (อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ )
-ฟ้าแดดสงยาง (อำเภอกมลาไสย)
-พระธาตุยาคู (อำเภอกมลาไสย)
-ใบเสมาบ้านก้อม (อำเภอกมลาไสย)
-โนนสาวเอ้ (อำเภอกมลาไสย)
-หมู่บ้านพัฒนาวัฒนธรรมผู้ไทยบ้านโคกโก่ง (อำเภอกุฉินารายณ์)
-น้ำตกตาดสูง (อำเภอกุฉินารายณ์)
-พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นผู้ไท (อำเภอกุฉินารายณ์)
-น้ำตกตาดทอง (อำเภอเขาวง)
-เครือข่ายอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้าน บ้านโพนสวรรค์ (อำเภอเขาวง)
-พระธาตุพนมจำลอง (อำเภอห้วยเม็ก)
-พิพิธภัณฑ์สิรินธร (พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ ภูกุ้มข้าว) (อำเภอสหัสขันธ์)
-พระพุทธไสยาสน์ถ้ำภูค่าว (อำเภอสหัสขันธ์)
-พุทธสถานภูสิงห์ (อำเภอสหัสขันธ์)
-แหลมโนนวิเศษ (อำเภอสหัสขันธ์)
-หลวงพ่อบันดาลฤทธิ์ผล (อำเภอสหัสขันธ์)
-พระพุทธอนันตคีรีประดิษฐาน ณ วนอุทยานภูพระ (อำเภอท่าคันโท)
-ศูนย์วัฒนธรรมชาวผู้ไทยบ้านโพน (ศูนย์วิจิตรแพรวาบ้านโพน) (อำเภอคำม่วง)
-สะพานเทพสุดา (สะพานข้ามน้ำจืดที่ยาวที่สุดในประเทศ) (อำเภอหนองกุงศรี)
-ผาเสวย (อำเภอสมเด็จ)
-วัดป่าบ้านนาขาม เดิมเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปองค์ดำ ปัจจุบันได้อัญเชิญพระองค์ดำไปประดิษฐานที่วัดกลาง จ.กาฬสินธุ์ (อำเภอนาคู)
-พิพิธภัณฑ์วัดกลางภูแล่นช้าง (อำเภอนาคู)
-ถ้ำเสรีไทย (อำเภอนาคู)
-พุทธสถานหลวงปู่ใหญ่ (อำเภอดอนจาน)
-พระแสนเมือง (หลวงปู่พระแสน) ประดิษฐาน ณ วัดป่ายางเครือ (บ้านเชียงเครือ ตำบลเชียงเครือ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์)
-พระเทพ (หลวงปู่พระเทพ) ประดิษฐาน ณ วัดป่ายางเครือ (บ้านเชียงเครือ ตำบลเชียงเครือ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์)
-วัดป่ายางเครือ วัดโบราณ ประดิษฐานหลวงปู่พระแสนและหลวงปู่พระเทพ (บ้านเชียงเครือ ตำบลเชียงเครือ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์)
-เมืองเชียงเครือ/นครยางเครือ เมืองขอมโบราณ ปกครองโดย พญาเชียงเครือ ราชโอรสในพญาเชียงโสม แห่งเมืองเชียงโสม มีพี่น้อง ได้แก่ พญาจันทราช (พญาเชียงโสม) พญาธรรม พญาเชียงสง พญาเชียงสา พญาเชียงสร้อย /เมืองเชียงเครือเป็นเมืองยุค-เดียวกันกับเมืองฟ้าแดดสงยาง มีความเจริญรุ่งเรืองราวพุทธศวรรษที่ 12-16 ( ตำบลเชียงเครือ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์)
-น้ำตกผานางคอย,น้ำตกผาระแงง (อำเภอนาคู)
-อ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน อ่างวังคำ (อำเภอเขาวง)
-วัดป่าโพนวิมาน (วัดป่าพุทธบุตร) พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ฟอสซิลปลาโบราณ (อำภอเขาวง)
แผนที่จังหวัด